อาชีพ ‘ห้ามฝน’ ใกล้ศูนย์สูตร

อาชีพ ‘ห้ามฝน’ ใกล้ศูนย์สูตร

เปิดอาชีพแปลกที่มีอยู่จริงในบาหลี อย่างอาชีพ "ห้ามฝน" ที่มาพร้อมกับความเชื่อ หวังต้านแรงธรรมชาติ อาชีพที่รับเงินเป็นกอบเป็นกำจากออแกไนเซอร์ราว 1-3 หมื่นบาทต่อครั้ง

มนุษย์นั้นถึงแม้จะอยู่ใต้ฟ้าแต่ก็กลัวฝน โดยเฉพาะในช่วงน้ำล้นหรือมีพิธีการสำคัญ ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือครอบครัว พิธีกรรมที่คนไทยกระทำกันเพื่อไม่ให้ฝนตกก็คือให้หญิงบริสุทธิ์ปักตะไคร้ลงดินในบริเวณนั้น ซึ่งได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง ทำกันตามมีตามเกิด แต่มีแห่งหนึ่งในโลกที่ผู้คนทำการ "หยุดฝน" กันอย่างเป็นธุรกิจ นั่นก็คือบาหลี

บาหลี เป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย โดยประกอบด้วยเกาะใหญ่และเกาะเล็กๆ อีก 2-3 เกาะ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา ใกล้เส้นศูนย์สูตร เกาะใหญ่นี้มีวัฒนธรรมแตกต่างไปจากเกาะอื่นๆ ของประเทศ อีกประมาณ 1.7 หมื่นเกาะอย่างน่าสนใจ กล่าวคือชาวบาหลี 4 ล้านคนเป็นฮินดูร้อยละ 90 ในประเทศที่เป็นมุสลิมท่วมท้นกว่า 260 ล้านคน

บาหลี มีพื้นที่ประมาณ 5,780 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 10 เท่าเศษของภูเก็ต ซึ่งจำนวนประชากรก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน บาหลีเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ของโลก โดยมีนักท่องเที่ยวกว่าปีละ 15.7 ล้านคน (ต่างชาติ 6 ล้านคน) มีโรงแรมชั้นเลิศนับเป็นร้อยๆ แห่ง การอยู่ในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตรทำให้มีฝนตกหนักเป็นระยะ จนเป็นเหตุให้มีอาชีพ "หยุดฝน"

บาหลีเป็นสถานที่ยอดนิยมของการท่องเที่ยวและจัดประชุมสัมมนาใหญ่ระหว่างประเทศ เช่น การจัด Miss World 2013/2018 Annual Meetings ของ IMF และ World Bank ฯลฯ การ "หยุดฝน" ระหว่างมีงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การเป็นฮินดูของคนบาหลี หมายถึง การนับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาของคนอินเดียและการรับวัฒนธรรมประเพณีของคนอินเดียมาด้วย เช่น การนับถือเทพ หลายองค์ การประกอบพิธีกรรม การเชื่อ ไสยศาสตร์ ตลอดจนภูตผีปีศาจ ฯลฯ จนเป็นวิถีชีวิตของคนบาหลี

มีผู้ประกอบพิธีจำนวนมาก ซึ่งอ้างว่ามีอำนาจเร้นลับในการควบคุมสภาวะ อากาศ และไฟ ที่ทำให้เกิดควันจนผลักเมฆฝนให้พ้นไปได้ แต่ในการใช้อำนาจนี้ต้องจ่ายเงินค่าบริการโดยไม่รับรองว่า ถ้าฝนตกแล้วจะคืนเงิน

ผู้จ้าง ได้แก่ ออแกไนเซอร์ของงานใหญ่ ตลอดจนผู้บริหารโรงแรม สนามกอล์ฟ งาน แต่งงาน งานปาร์ตี้นอกสถานที่ ฯลฯ ที่ไม่ต้องการฝน และบ่อยครั้งที่มิได้จ้างเพียงคนเดียว หากจ้างหลายคนเพื่อให้เกิดความมั่นใจและสามารถเอาไปอ้างกับลูกค้าได้ว่า พยายามอย่างที่สุดแล้วที่จะไม่ให้ฝนตก

ผู้ "หยุดฝน" รายใหญ่ในบาหลีมีอยู่ประมาณ 100 ราย ได้รับค่าจ้างระหว่าง 350-1,000 ดอลลาร์ (1 หมื่น-3 หมื่นบาท) ต่อครั้ง โดยอ้างสถิติว่าสามารถ "หยุดฝน" ได้ถึงร้อยละ 90-100 การประกอบพิธีกรรมกระทำกันอย่างเปิดเผยเป็นเรื่องปกติ เพราะพิธีกรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันชาวบาหลี ในตอนเช้าทุกวันก็จะจัดดอกไม้บูชาเทพองค์ที่ตนนับถือ แม้แต่ในรถรับจ้างส่วนบุคคลก็จะเห็นดอกไม้ที่วางหน้ากระจกเพื่อบูชา

หลายคนเล่าถึงความสามารถของบรรดาผู้ "หยุดฝน" เหล่านี้ เช่น ฝนตกหนักมานานเป็นชั่วโมง เมื่อทำพิธีก็จะหยุด พอเสร็จพิธีแล้วก็ตกต่อ บางกรณีก็มีฝนตกไปทั่ว ยกเว้นในบริเวณที่ต้องการไม่ให้ฝนตก ผู้บริหาร โรงแรมห้าดาวที่เป็นคนต่างชาติก็ยอมรับพิธีกรรมนี้เช่นเดียวกับออแกไนเซอร์ ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ดังนั้นการ "หยุดฝน" จึงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี

ผู้ "หยุดฝน" รายใหญ่ในบาหลีมีอยู่ประมาณ 100 ราย ได้รับค่าจ้างระหว่าง 350-1,000 ดอลลาร์ (1 หมื่น-3 หมื่นบาท) ต่อครั้ง โดยอ้างสถิติว่าสามารถ "หยุดฝน" ได้ถึงร้อยละ 90-100

ผู้จ้างบางรายบอกว่า ความสำเร็จของคนเหล่านี้เกินกว่าร้อยละ 50 หรือเกินกว่านั้นมากอย่างน่าแปลกใจ อย่างไรก็ดี ไม่มีใครรวบรวมสถิติไว้ว่าแม่นยำเพียงใดในทางวิชาการการตัดสินว่าใครแม่นยำกว่ากัน โดยดูจากสถิติหยาบๆ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะต้องคำนึงถึงอัตราความชื้นของบริเวณที่ทำพิธีในแต่ละครั้ง ประกอบด้วย เช่น ถ้าผู้ "หยุดฝน" รายหนึ่งเจอแต่งานที่มีคำพยากรณ์ทางวิทยาศาสตร์ว่ามีโอกาสที่ฝนตกสูง ก็จะมีสถิติต่ำกว่าอีกคนที่เจอแต่งานที่ฝนมีโอกาสตกน้อย (หากแล้งจัดและฝนไม่มีโอกาสจะตกเลย ก็ย่อมไม่มีคนจ้าง)

ข้ออ้างของผู้ "หยุดฝน" เมื่อทำพิธีแล้วไม่ได้ผล ก็คือมีผู้ "หยุดฝน" รายอื่นที่กำลังทำพิธีอยู่ในเวลาเดียวกันในบริเวณอื่น เมื่อฝนถูก "ผลัก" ให้ออกมานอกบริเวณจึงมาตกในบริเวณที่ทำพิธีนั้น (ไม่ได้บอกว่าคาถาอาคมของตนเองสู้ไม่ได้) หรือไม่ก็อ้างว่าเมื่อจ้างผู้ "หยุดฝน" มาหลายคนในงานเดียวกัน คาถาอาคมอาจขัดแย้งกันจนทำให้ไม่ได้ผล (คราวหน้าควรจ้างมาคนเดียวโดยเอาค่าจ้างคนอื่นมาให้ตนจะดีกว่า)

หากวิเคราะห์ว่าเหตุใดการ "หยุดฝน" จึงเป็นอาชีพได้ก็ต้องเริ่มที่การมีดีมานด์ของการไม่ให้ฝนตกในเบื้องต้น และมีซัพพลายของการทำไม่ให้ฝนตก ("หยุดฝน" โดยเจ้าพิธีกรรมเหล่านี้) การเกิดมีดีมานด์ ก็เพราะมีผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกับการที่ฝนไม่ตก ผู้จ้างยินดีและมีอำนาจซื้อที่จะจ่าย ดังนั้นจึงเกิดมีค่าจ้างขึ้น ถ้ามีผู้ "หยุดฝน" อยู่เป็นจำนวนน้อยก็จะมีค่าจ้างสูง หากในตอนแรกได้รับค่าจ้างสูง อีกไม่ช้าไม่นานก็จะมีคนตามเข้ามาเป็นผู้ "หยุดฝน" ในจำนวนที่สูงขึ้นและค่าจ้างก็ย่อมลดลง

การที่ผู้จ้าง (ออแกไนเซอร์) ยินดีจ่ายก็เนื่องมาจากเป็นการทำให้ลูกค้า ซึ่งเชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วสบายใจ เช่น บ่าวสาว เจ้าภาพ งานปาร์ตี้ ฯลฯ และอ้างได้ว่าให้บริการสุดยอดแล้ว นอกจากนี้ผู้ "หยุดฝน" อาจมีความสามารถจริงหรือไม่ ก็มั่วว่าเป็นผลงานจากเหตุที่ฝนเกิดไม่ตก

ค่าจ้างคนเหล่านี้ก็เป็นส่วนที่น้อยมาก ในการเป็น "ต้นทุนโสหุ้ย" (transaction cost) ในการดำเนินงานในสังคมที่เชื่อเรื่องลี้ลับ การจ้างผู้ "หยุดฝน" มิได้ทำให้ ผู้คนเห็นว่าผู้จัดงาน ผู้บริหารโรงแรมห้าดาว เป็นคนขาดเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์จนไม่น่าเชื่อถือไปได้

เหตุใดจึงไม่มีผู้รับจ้าง "หยุดฝน" เป็นอาชีพเช่นนี้ในบ้านเรา ถ้าตอบเล่นๆ ก็คงจะเป็นว่าเพราะเรายังพอหาสาวบริสุทธิ์ได้ โดยไปหาจากเด็กชั้นประถมมาปักตะไคร้และสามารถ "หยุดฝน" ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอควร แต่ถ้าตอบจริงๆ ก็คือว่าบ้านเราไม่มีฝนตกมากและบ่อยเหมือนบาหลี (น่าจะเลวร้ายกว่าทางใต้ที่มีคำพูดว่า "ฝนแปดแดดสี่") และในขณะนี้ก็เชื่อได้ว่ามีการทำพิธีเช่นนี้อยู่อย่างไม่โจ่งแจ้ง เนื่องจากเรายังไม่มีพิธีกรรมมากมายจนเคยชิน และเป็นที่ยอมรับเหมือนสังคมฮินดู ดังนั้น การเกิดเป็นอาชีพ "หยุดฝน" อย่างชัดแจ้งและเป็นเรื่องเป็นราวจึงไม่ เกิดขึ้นให้เห็น

การ “หยุดฝน” ได้จริงหรือไม่ ยังไม่มีการพิสูจน์กันเชิงวิชาการ อย่างไรก็ดี มันเป็นความเชื่อที่ไม่ว่าจะพิสูจน์อย่างไรก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงควรไปทำอย่างอื่นกันจะได้เนื้อได้หนังกว่า ควรปล่อยให้คนเขามีอาชีพที่สุจริตเช่นนี้ต่อไป อีกทั้งไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใครด้วย

ความเชื่อในเรื่องลี้ลับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ถ้าขาดปัจจัยตัวนี้และพิธีกรรมไม่ได้ผลเลย ก็จะไม่มีอาชีพ “หยุดฝน” อย่างแน่นอน ขณะนี้ในอีกถิ่นหนึ่งนั้นหากใครมีความสามารถในทางตรงกันข้ามกับ "ห้ามฝน" อย่างมากแล้ว ขอเชิญมาที่เมืองสารขัณฑ์นี้ได้เลยครับอย่างรีบด่วน