เสพข่าว 'ไวรัสโคโรน่า' อย่างมี 'สติ'

เสพข่าว 'ไวรัสโคโรน่า' อย่างมี 'สติ'

ในช่วงวิกฤติ "ไวรัสโคโรน่า" เช่นนี้ การรับรู้ข่าวสารควรต้องมีสติอย่างมาก ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ต้อง "วิเคราะห์" ข้อมูล ภาพ และเสียงให้เป็น ขณะที่ภาครัฐต้องเป็นสื่อกลาง จัดชุดข้อมูลที่ถูกต้องและให้ความรู้ไปในตัวกับประชาชน

สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่เกิดจาก "ไวรัสโคโรน่า" กำลังลุกลามไปค่อนโลก นอกจากส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวมแล้ว ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้ระบบสาธารณสุขทั่วโลกต้องลุกขึ้นมาหาทางรับมือโรคอุบัติใหม่ ที่อาจไม่ได้มีแค่ "ไวรัสโคโรน่า" เท่านั้น ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) ต้องออกมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสำหรับโรคอุบัติใหม่ชนิดนี้ เป็นการเปิดทางสำหรับการออกคำแนะนำแก่ทุกประเทศ มีเป้าหมายเพื่อป้องกัน และลดการแพร่ระบาดข้ามพรมแดน

คำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ครอบคลุมถึงการออกคำแนะนำต่างๆ ชั่วคราวแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงการยกระดับเฝ้าระวัง การเตรียมความพร้อมรับมือ และมาตรการต่างๆ สำหรับควบคุมการแพร่ระบาด ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยืนยันว่าการประกาศครั้งนี้ไม่ใช่การโหวตไม่ไว้วางใจจีน หากความกังวลใหญ่หลวงที่สุด คือ ความเป็นไปได้ที่ไวรัสจะลุกลามสู่ประเทศอื่นๆ ที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอ และย้ำว่าไม่มีเหตุผลที่จะกำหนดข้อจำกัดด้านการเดินทาง หรือการค้ากับจีน ต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หลังจากสายการบินหลายแห่งประกาศระงับเที่ยวบิน และองค์การอนามัยโลกก็ไม่แนะนำและคัดค้านการกำหนดข้อจำกัดใดๆ ในด้านการเดินทางและการค้า

การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า นอกจากสร้างความหวั่นวิตกให้กับภาพรวมของเศรษฐกิจแล้ว ในด้านการรับรู้ข่าวสารของคน กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมากมาย โดยเฉพาะความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลมาจากทุกช่องทาง เราอยู่ในยุคของข้อมูลท่วมท้น ไม่รู้อะไรก็ค้นหาบนอินเทอร์เน็ต ข้อมูลทั้งภาพ และเสียง ก็ทะลักเข้ามาให้คลิกอ่านได้อย่างทันอกทันใจ ยิ่งปัจจุบันเป็นโลกของโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ และยูทูบ ยิ่งเป็นช่องทางรับรู้ข่าวสารได้เพิ่มมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงที่เราเห็นวันนี้ มีแต่ข่าวปล่อย ข่าวลือ ข่าวผิดๆ มากมายเต็มไปหมด ทั้งข้อความ ทั้งภาพ เสียง คลิปวิดีโอ แนววิชาการให้ความรู้ก็มา ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ บางเรื่อง บางข้อความที่ถูกแชร์ออกมาก็ทำให้เกิดความตื่นตระหนกเกินเรื่องไปมาก

เราเห็นว่า ในช่วงวิกฤติเช่นนี้ การรับรู้ข่าวสารควรต้องมีสติอย่างมาก ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ต้อง "วิเคราะห์" ข้อมูล ภาพ และเสียงให้เป็น ขณะที่ภาครัฐต้องเป็นสื่อกลาง จัดชุดข้อมูลที่ถูกต้องและให้ความรู้ไปในตัวกับประชาชน อัพเดทสถานการณ์รวดเร็ว แม่นยำ วิธีการสื่อสารในภาวะวิกฤติแบบนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐ รวมถึง "สื่อมวลชน" ต้อง "คิดให้เยอะ" และรอบคอบมากที่สุด