กนอ.เคาะ 2 พื้นที่ถมทะเล ป้อน 'เอ็กซอน' ลงทุนปิโตรฯ

กนอ.เคาะ 2 พื้นที่ถมทะเล ป้อน 'เอ็กซอน' ลงทุนปิโตรฯ

กนอ.เผยผลศึกษาเตรียมพื้นที่ให้ “เอ็กซอนโมบิล” เลือกลงทุนปิโตรเคมี 4 จุด ถมทะเล 2 จุด สูงสุด 2.5 พันไร่ คาดสรุป ก.พ.นี้

บริษัทเอ็กซอนโมบิล มีแผนลงทุนปิโตรเคมีด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งต้องการพื้นที่มากกว่า 1,000 ไร่ บริเวณใกล้เคียงกับโรงกลั่นศรีราชา มูลค่าการลงทุน 3.3 แสนล้านบาท โดยช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ได้เข้าพบรัฐบาลเพื่อให้รัฐเตรียมพื้นที่ลงทุนให้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษาพื้นที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนของเอ็กซอนโมบิล ซึ่งร่างผลการศึกษาฉบับแรกกำหนดพื้นที่สำหรับขยายนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเพื่อลงทุนดังกล่าว 4 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่บนบกใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 5,000 ไร่ 2.พื้นที่บนบกใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง 1,200 ไร่ 

สำหรับพื้นที่บนบกทั้ง 2 แปลงเหมาะสมใกล้กับโรงกลั่นของเอ็กซอนโมบิลในปัจจุบัน แต่อาจจะติดปัญหาในการรวบรวมพื้นที่ เพราะมีประชาชนอยู่ในพื้นที่หลายราย ทำให้ต้องใช้เวลาในการเจรจาซื้อพื้นที่

3.พื้นที่ถมทะเล 2,500 ไร่ ซึ่งเดิมตั้งเป้าจะถมทะเล3,000ไร่ แต่ผลศึกษาพบว่าถมได้เพียง 2,500ไร่ หากขยายเกินกว่านี้จะติดระบบท่อใต้ดินของโรงงานที่อยู่ใกล้เคียง และอาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากถมทะเลในขนาดที่กล่าวไว้ขั้นต้นก็จะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล

4.พื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในบริเวณพื้นที่บ่อเก็บกักตะกอน 1,875 ไร่ ที่มีพื้นที่รวมกว่า 10,000 ไร่ ซึ่งในพื้นที่นี้ต้องรอให้บ่อเก็บกักตะกอนของท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เต็มก่อนจึงต้องใช้เวลาอาจจะทำให้ภาคเอกชนรอไม่ได้ แต่เบื้องต้นได้หารือกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) แล้วพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

ได้ข้อสรุปพื้นที่ ก.พ.นี้

“ผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะเสร็จในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งจะชัดเจนว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสมมากที่สุด จากนั้นจะส่งรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและกำหนดแนวทางดำเนินงาน ซึ่งอาจให้ กนอ.เป็นผู้ลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ หรือให้ผู้อื่นดำเนินงาน จากนั้นจะทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้รองรับโรงงานปิโตรเคมีของเอ็กซอนโมบิล และรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกมาก”

ส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในอีอีซี หลังจากที่ได้ประกาศแผนผังการใช้พื้นที่ในอีอีซี ทำให้ภาคเอกชนมีความชัดเจนเรื่องพื้นที่อุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการที่จะสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 18 ราย หลักเกณฑ์ผังเมือง 10 ราย ในจำนวนนี้ได้ปรับผังเมืองเป็นสีม่วงเพื่ออุตสาหกรรมทั้งหมด 100% จำนวน 6 ราย พื้นที่รวม 10,444 ไร่ อยู่ใน จ.ชลบุรี 3 ราย และ จ.ระยอง 3 ราย 

ส่วนอีก 4 ราย ได้ปรับเป็นผังสีม่วง 80% ทำให้จากเดิมที่มีพื้นที่รวม 8,317 ไร่ ลดลงเหลือ 7,801 ไร่ อยู่ในพื้นที่ จ. ฉะเชิงเทรา 3 ราย และ จ.ชลบุรี 1 ราย โดยทั้ง 10 รายนี้ คาดว่าจะมาขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ภายในปีนี้ 2-3 โครงการ ใน จ.ระยองและชลบุรี ส่วนที่เหลือจะทยอยตั้งปีถัดไป

“หลังจากที่โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 เริ่มก่อสร้าง โครงการลงทุนในนิคมฯ ก็จะเข้ามารวดเร็วขึ้น เพราะต่างชาติจะมีความมั่นใจ และเร่งลงทุนเพื่อให้เสร็จทันตามโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ ดังนั้น กนอ. จะต้องเตรียมพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก”