'ซาฟารี' เสียใจยีราฟ ตายคาคูน้ำ หลังหลุดกรง

'ซาฟารี' เสียใจยีราฟ ตายคาคูน้ำ หลังหลุดกรง

ผู้บริหารซาฟารีเวิลด์ แจง "ยีราฟ" หลุดจากกรง เตรียมประชุมหารือเพื่อวางมาตรการไม่ให้เกิดเหตุสูญเสียซ้ำ

กรณีที่ยีราฟ 2 ตัว ของสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ หลุดออกมาจากกรง ก่อนจะกระโดดลงจากรถบรรทุกหกล้อ ระหว่างทางการขนส่งจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ของสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ ในเขตพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี ตั้งแต่คืนวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา โดยช่วงเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่สามารถจับยีราฟเพศเมีย วัยประมาณ 5 ปี ได้ ส่วนยีราฟอีกตัวที่วิ่งหนีหายไป เจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังค้นหาตลอดสองวัน กระทั่งพบว่านอนตายอยู่ในคูน้ำ หน้าสนามกอล์ฟซันไรส์ ลากูน ถนนสาย 304 อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา

วันนี้ (31 มกราคม) เวลา 14.00 น. ที่ลานน้ำพุ ทางเข้ามารีนปาร์คสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ นายฤทธิ์ คิ้วคชา กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัทซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยนายดวง คิ้วคชา ผู้จัดการสำนักวิจัยและอภิบาลสัตว์ สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์(น.สพ.) อนุวัฒน์ วัฒนนรเศรษฐ์ สัตวแพทย์ประจำบริษัทซาฟารีเวิลด์ ได้แถลงกรณีการสูญเสียยีราฟ 1 ตัว จาก 78 ตัว ระหว่างการขนย้ายไปยังสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ของสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ ในเขตพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี

นายฤทธิ์ ยืนยันว่า การขนส่งครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานขนย้ายสัตว์ใหญ่ที่ทางคู่ค้าเป็นคนดูแลและจัดการวิธีการขนส่งตั้งแต่ขึ้นเครื่องมาจนถึงลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ และเมื่อลงเครื่องทางตนและผู้ขายร่วมรับผิดชอบขนส่งไปยังปลายทางที่จ.ปราจีนบุรี โดยครั้งนี้ถือเป็นการขนสัตว์ล็อตใหญ่ที่มียีราฟ 78 ตัว และม้าลาย 60 ตัว โดยยีราฟและม้าลาย ถูกบรรจุภายในกล่อง กล่องละ 2 ตัว โดยไม่มีการวางยาสลบ ลำเลียงจากประเทศแอฟริกามายังสนามบินสุวรรณภูมิ กว่า 10 ชั่วโมง เมื่อมาถึงจะมีรถบรรทุกรอรับสัตว์ทั้งหมด 23 คันไปยังสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ของสวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์ ในเขตพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี

นายฤทธิ์ ยอมรับว่าหลังจากนี้จะต้องไปหารือกับคู่ค้าในเรื่องการขนส่งลำเลียงสัตว์ ต้องเพิ่มมาตราการเข้มงวดมากเดิม เพราะการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าการหลุดจากกรงของยีราฟ น่าจะเกิดจากตัวกลอนที่ล็อคกรง ถูกรถโฟล์คลิฟท์กระแทกขณะขนกรงจากตัวเครื่องบินลงมารถบรรทุก ซึ่งส่วนตัวไม่อยากโทษใคร เพราะเป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และทุกฝ่ายมีประสบการณ์การขนส่งอยู่แล้ว เพียงแต่นำครั้งนี้มาเป็นบทเรียนให้ตัวเอง คู่ค้า และบริษัทขนส่งทบทวนเหตุการณ์ไม่ให้เกิดซ้ำอีก

นายฤทธิ์ ระบุอีกว่า ทฝทางสวนสัตว์เองก็เสียใจ และไม่สามารถประเมินค่ายีราฟที่ตายได้ และยืนยันว่าเล็งเห็นความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก ตลอดการค้นหายีราฟนั้น ก็ใช้บุคลากร 50-100 คน รวม2-3 วัน เพื่อหวังว่าจะประสบความสำเร็จ ซึ่งก็ยอมรับพร้อมเคารพความคิดเห็นและคำแนะนำที่หลายฝ่ายแนะนำมา

ด้าน นายสัตวแพทย์ อนุวัฒน์ ยืนยันสาเหตุการตายของยีราฟตัวที่ตาย เป็นเพศผู้ อายุ 3-4 ปี น้ำหนัก 400 กิโลกรัม สูง 3 เมตร พบว่ามีน้ำเต็มปอด ซึ่งสรุปได้ว่าเกิดจากการจมน้ำ สภาพร่างกายไม่พบร่องรอยบาดเจ็บ แต่ยอมรับว่าปฏิบัติการตามหา ได้ใช้ยาสลบยิงยีราฟทั้ง 2 ตัว แต่หนึ่งในนั้น เป็นยีราฟเพศเมีย อายุ 5 ปี น้ำหนัก 500 กิโลกรัม สูง 4 เมตร ยาสลบออกฤทธิ์ทำให้สามารถควบคุมได้อย่างปลอดภัย และตัวนี้เองเป็นตัวที่ปรากฏคลิปกล้องหน้ารถว่ามีรถจักรยานยนต์เข้าใกล้ประชิด จนยีราฟตกใจวิ่งเตลิด ซึ่งยืนยันจากกการตรวจร่างกายไม่พบร่องรอยบอบช้ำ เชื่อว่ารถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ไม่ได้เฉี่ยวชน

สำหรับการกู้ยีราฟที่หลุดออกจากกรงนั้น ได้มุ่งไปดำเนินการกับยีราฟเพศเมียตัวแรก เนื่องจากอยู่จุดชุมชน เพราะอยู่ใกล้ถนนมาก จึงมุ่งไปดำเนินการจับยีราฟตัวแรกมากกว่า เพราะยีราฟตัวที่ตายนั้น หลังจากหลุดลงจากรถได้ไปยืนหลบไปอยู่กลางทุ่งนา

โดยหลังจากดำเนินการกับตัวแรกในช่วงเวลา 19.00 น. ได้แล้วนั้น ทีมที่เข้าไปได้ดำเนินการ ยิงยาสลบไปที่ยีราฟตัวที่เสียชีวิตในเวลา 23.00 น. แต่เนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน ค่อนข้างมืด ระยะการมองเห็นได้เพียง 10 เมตร เมื่อยิงยาสลบไปแล้วยืนยันว่าโดนยีราฟ แต่ยาที่ยิงไปเข้ากล้ามเนื้อยีราฟไม่เต็มซึ่งทำให้ไปกระตุ้นให้ยีราฟตื่นตกใจ วิ่งข้ามถนนไปอีกฝั่ง ซึ่งในจุดที่พบซากยีราฟนั้นในวันแรกได้ส่งทีมไปค้นหาบริเวณนั้นแล้วแต่ไม่พบตัว เพราะในวันนั้นยังมีความหวังว่ายีราฟยังมีชีวิตอยู่

จากนั้นได้พาสื่อมวลชนพามาดูวิธีการเลี้ยงและความเป็นอยู่ของยีราฟที่ศาลาเลี้ยงยีราฟ อย่างไรก็ตามสำหรับยีราฟที่นำเข้ามาทั้ง 78 ตัวนั้นนำเข้ามาเพื่อเพาะพันธุ์เท่านั้น เป็นคนละส่วนกับที่อยู่ภายในส่วนสัตว์ซาฟารีเวิลด์

/////