'ฟิทช์' ห่วงเครดิตแบงก์ไทย หลังแห่ซื้อกิจการนอก สะท้อนยอมรับความเสี่ยงเพิ่ม

'ฟิทช์' ห่วงเครดิตแบงก์ไทย หลังแห่ซื้อกิจการนอก สะท้อนยอมรับความเสี่ยงเพิ่ม

“ฟิทช์ เรทติ้งส์” เผย “แบงก์ไทย” ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านการเข้าซื้อกิจการธนาคารอื่นในภูมิภาค เชื่อผลจากการแข่งขันในประเทศที่รุนแรง สร้างแรงกดดันต่อผลดำเนินงาน ระบุการขยายธุรกิจในประเทศที่เครดิตต่ำ อาจส่งผลต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ระบุว่า การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ไทย บ่งชี้ถึงแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk appetite) โดยเป็นผลจากแรงกดดันที่สูงขึ้นในด้านอัตรากำไร ซึ่งอาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของธนาคารบางแห่งที่ขยายการดำเนินงานไปในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่สูงขึ้น

โดยระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำ แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อที่ไม่สูงนัก และการแข่งขันที่เข้มข้นภายในประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ธนาคารหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียมีระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้เพิ่มขึ้นในการเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการ (M&A) กับธนาคารอื่นในต่างประเทศ ฟิทช์ เชื่อว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงปี 2563 

นอกจากนี้ธนาคารยังมีความจำเป็นที่จะต้องให้บริการแก่ลูกค้าในประเทศของธนาคารที่มีการขยายธรุกิจไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปัจจัยดังกล่าวน่าจะมีความชัดเจนมากกว่าสำหรับธนาคารในประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคเอเชีย แต่ที่ผ่านมาปัจจัยดังกล่าวก็เป็นปัจจัยที่พบในประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นกัน ซึ่งรวมถึงในกรณีของประเทศไทย

เมื่อเดือนธ.ค.2562 ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ได้ตกลงเข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 89% ของ PT Bank Permata Tbk ซึ่งเป็นธนาคารในประเทศอินโดนีเซีย และในเดือนม.ค.2563 ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เจรจาซื้อหุ้นในสัดส่วน 35% ของ Ayeyarwaddy Farmers Development Bank ซึ่งเป็นธนาคารในเมียนมา นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) ได้เปิดเผยว่าธนาคารอยู่ระหว่างขออนุมัติเปลี่ยนสถานะสำนักงานตัวแทนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าเป็นบริษัทย่อย

ฟิทช์คาดว่าธนาคารไทยแห่งอื่นน่าจะพิจารณาขยายธุรกิจไปในต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ โดยทั่วไปธนาคารไทยส่วนใหญ่มีฐานะเงินกองทุนที่เหมาะสม ซึ่งน่าจะช่วยรองรับการเติบโตโดยการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ (inorganic growth) ได้ในระดับหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม ขนาดของกิจการที่จะเข้าซื้อน่าจะถูกจำกัดโดยขนาดของเงินกองทุนของธนาคารไทย ซึ่งฟิทช์เชื่อว่ามีเพียงธนาคารไม่กี่รายที่จะสามารถเข้าซื้อกิจการที่มีขนาดใหญ่ในระดับใกล้เคียงกับในกรณีของ Permata

การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในระดับที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับต่ำ อาจส่งผลความสามารถในการรองรับความเสี่ยงของเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวลดลงและบ่งชี้ถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (viability rating) ของธนาคาร ความสามารถในการบริหารจัดการอุปสรรคและความท้าทายที่เกิดจากการเข้าซื้อกิจการธนาคารในต่างประเทศ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาผลกระทบต่ออันดับเครดิต

ทั้งนี้ การขยายธุรกิจไปในประเทศที่สภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่มีความท้าทายสูงกว่า อาจเกิดความเสี่ยงเพิ่มเติมกับธนาคารไทย รวมทั้งธนาคารอื่นในภูมิภาคเอเชียที่มีแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในลักษณะที่คล้ายกัน ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำและการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคอยู่ในระดับที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ผลกระทบจากความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมดังกล่าวอาจยังไม่มีความชัดเจนมากนักในระยะสั้น

อย่างไรก็ตามหากสภาพแวดล้อมปรับตัวแย่ลง ความเสี่ยงดังกล่าวจะเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น จากผลกระทบดังกล่าว การพิจาณาผลกระทบของฟิทช์ต่ออันดับเครดิตของธนาคารจากการซื้อกิจการในต่างประเทศ จึงต้องคำนึงถึงระดับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่เหมาะสม เทียบกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจในต่างประเทศ