ตร.ตั้งคณะทำงาน หวังลดสถิติตำรวจฆ่าตัวตาย

ตร.ตั้งคณะทำงาน หวังลดสถิติตำรวจฆ่าตัวตาย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้ง “คณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว” หวังแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจ

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.63 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พลตำรวจเอก มนู เมฆหมอก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) มีบันทึกข้อความถึง ผู้บัญชาการ(ผบช.) หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผู้บังคับการ(ผบก.)ในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ( สง.ผบ.ตร.) หรือตำแหน่งเทียบเท่า เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตายใจความว่า 

ตามหนังสือ ตร.ที่ 0009.331/ 72 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 กำหนดมาตรการและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย) ให้ทุกหน่วยถือปฏิบัตินั้น เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมสามารถให้การช่วยเหลือระงับยับยั้งก่อนและหลังเกิดเหตุให้ทันท่วงที จึงกำหนดแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

1.ให้หัวหน้าหน่วยงานระดับ กก. และระดับสถานีตำรวจ แต่งตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัวขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีกรรมการอย่างน้อย 5 คน แต่ไม่เกิน 12 คน และจัดทำผังคณะกรรมการฯ ระบุหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ของกรรมการทุกคน แล้วให้แต่ละ บช. และ บก.ในสังกัดสำนักงานผู้บัญชากาตำรวจแห่งชาติ รวบรวมคำสั่งพร้อมผังดังกล่าวส่ง ผู้บัญชาการ สำนักงานกำลังพล (ผ่าน ผกก.กลุ่มงานพัฒนาพัฒนาทรัพยากรบุคคล) โทรศัพท์ 022051539 อีเมล [email protected]

2.กรณีมีข้าราชการตำรวจในสังกัดทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย) ให้หน่วยงานต้นสังกัดรายงานข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติดรรมและสาเหตุ ตลอดจนการดำเนินการของหน่วยงานต้นสังกัดทั้งก่อนและหลังการก่อเหตุตามลำดับชั้น แล้วแจ้งผู้บัญชาการ สำนักงานกำลังพล (ผ่าน ผกก.กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล) ภายใน 30 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ

3.สำนักงานกำลังพล (กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคล) เมื่อได้รับรายงานข้าราชการตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย) จากต้นสังกัด ตามข้อ 2 แล้ว ให้นำเสนอ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาสั่งการตามมาตรการที่กำหนดต่อไป

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัวนั้น ประกอบด้วย

1.สังเกตพฤติกรรมลักษณะกลุ่มเสี่ยงของข้าราชการตำรวจที่มีแนวโน้มต่อการฆ่าตัวตาย ให้การช่วยเหลือ ระงับยับยั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต ช่วยเหลือฟื้นฟู สร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนติดตามและประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย

2.ให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการจัดการชีวิต การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาความรู้และทักษะเกี่ยวกับจิตเวชเบื้องต้น และการป้องกันการฆ่าตัวตาย ให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัด เพื่อการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต

3.การสร้างสัมพันธภาพและความไว้วางใจกับข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการข้าตัวตาย แนะนำแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งประสานบุคคลในครอบครัวเพื่อร่วมแก้ปัญหา

4.สร้างเครือข่ายประสานให้ความช่วยเหลือข้าราชการตำรวจกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เช่น โรงพยาบาลตำรวจ สถานพยาบาลในพื้นที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ชมรมสมาคมเพื่อสาธารณกุศล เป็นต้น

5.วิเคราะห์ศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ข้าราชการตำรวจอย่างเป็นรูปธรรม

6.เชิญ เรียก หรือสั่งการให้ข้าราชการตำรวจ เจ้าหน้าที่ในสังกัด เพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการดำเนินการของคณะกรรมการ

7.ให้ประธานคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม

8.ติดต่อประสานงานกับส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรและบุคคล เพื่อตรวจสอบรวบรวมหลักฐานหรือข้อมูล ตลอดจนกำหนดแนวทางและวิธีการ รวมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้ตามความจำเป็น

9.ปฏิบัติการอื่นใดที่จำเป็นและเหมาะสม เกี่ยวกับการสร้างคุณภาพชีวิตข้าราชการตำรวจและครอบครัว ให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม