ส่องรถไฟไฮสปีด ไร้คนขับของจีน

ส่องรถไฟไฮสปีด ไร้คนขับของจีน

ส่องรถไฟไฮสปีด ไร้คนขับของจีน พร้อมกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ สัญญาณ 5G ที่นับเป็นรถไฟความเร็วสูงอัจฉริยะแห่งแรกของโลก

รัฐบาลจีนเพิ่งจะมอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนชาวจีน ด้วยการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง "อัจฉริยะ" คันแรก ที่เชื่อมระหว่างกรุงปักกิ่งและเมืองจางเจียโข่ว ซึ่งทั้ง 2 เมือง เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 24 ในปี 2022

รถไฟขบวนดังกล่าวมาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ สัญญาณ 5G แสงไฟอัจฉริยะรวมถึงแท่นชาร์จไร้สาย และสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนอ้างว่า โครงการซึ่งมีมูลค่า 234,000 ล้านบาทนี้ เป็นรถไฟความเร็วสูงอัจฉริยะแห่งแรกของโลก

รถไฟความเร็วสูงขบวน "จิงจาง" ที่ย่อมาจากปักกิ่ง-จางเจียโข่ว เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 30 ธันวาคม 2019 หลังจากใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดย ครอบคลุมระยะทางทั้งหมด 174 กิโลเมตร และหยุดจอดทั้งหมด 10 สถานี

รถไฟหัวกระสุนไร้คนขับรุ่นใหม่ ล่าสุดมีชื่อว่า ฟู่ซิง ซึ่งมีความหมายว่า "การฟื้นฟู" หรือ "การทำให้กลับมาเป็นหนุ่มสาว" ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศจีนระบุว่า รถไฟสายนี้เป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายการขนส่งความเร็วสูงของจีนที่กำลังขยายตัว

รถไฟขบวนนี้ใช้ระบบเป๋ยโต่วในการนำทาง ซึ่งเป็นระบบดาวเทียมนำทางทั่วโลก ที่จีนพัฒนาขึ้นเพื่อมาแข่งกับระบบจีพีเอส ที่พัฒนาโดยสหรัฐอเมริกา และจะนำมาใช้แทนจีพีเอสด้วย โครงการดาวเทียมนำทางที่มีมูลค่า 273,000 ล้านบาทนี้ จะพัฒนาแล้วเสร็จในปีหน้า

หลี่ หงเซีย วิศวกรอาวุโสของบริษัทออกแบบและที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมรถไฟของจีน กล่าวกับ Technology Daily ว่า รถไฟความเร็วสูงขบวนนี้เป็นตัวแทนของ การก่อสร้างอัจฉริยะ อุปกรณ์อัจฉริยะและระบบการดำเนินงานแบบอัจฉริยะ และยังสร้างประวัติศาสตร์ของการรถไฟอัจฉริยะระดับโลกอีกด้วย

เขายังมองว่า ความสำเร็จของการก่อสร้างรถไฟสายนี้ นับเป็นหลักไมล์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์รถไฟของประเทศด้วย

รถไฟขบวนนี้สามารถลดเวลาเดินทางจากปักกิ่งไปยังจางเจียโข่ว ซึ่งอยู่ในมณฑลเหอเป่ย ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองหลวงจาก 3 ชั่วโมง 7 นาที เหลือเพียง 47 นาที

แม้ว่าจะมีการติดตั้งโปรแกรมให้ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง แต่จะมีพนักงานขับหนึ่งคนอยู่บนรถไฟด้วยเพื่อคอยตรวจสอบการทำงานของระบบอัตโนมัติ และจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้รถไฟยังจะได้รับการบำรุงรักษาและซ่อมแซมโดยหุ่นยนต์ด้วย

ตี้ เกอเหมิง วิศวกรโครงการจากบริษัท China Railway Seventh Group บอกว่า บริษัทของเขานำเครื่องจักรมาแทนที่คนงาน ในงานซ่อมที่อยู่ใต้ตู้โดยสารและบนรางรถไฟ

157872976836

ในบรรดาผู้โดยสารที่ตื่นเต้นที่ได้ร่วมขบวนไปกับรถไฟขบวนประวัติศาสตร์ ขบวนแรกคือ หยาง หยาง แชมป์โอลิมปิก ฤดูหนาวคนแรกของจีนที่ครองเหรียญทอง 2 เหรียญ จากการแข่งขันสเก็ตความเร็วระยะสั้นในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2002 ที่ซอลท์เลคซิตี

หยาง วัย 43 ปี บอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า รถไฟความเร็วสูงขบวนปักกิ่ง-จางเจียโข่ว มีความสำคัญต่อการเตรียมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวและพาราลิมปิกเกมปี 2022

157872978940

"มันช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเรา ช่วยโปรโมทกีฬาฤดูหนาวของจีน และช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของเมืองที่มีแต่น้ำแข็งและหิมะ" นักกีฬาที่ แขวนสเก็ตไปแล้ว และปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่ปักกิ่งกล่าว

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ผู้โดยสารจะสามารถเก็บสโนว์บอร์ดของพวกเขาในพื้นที่ ที่จัดให้โดยเฉพาะและชมการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันบนรถด่วนไฮเทคนี้ได้

ทุกสถานีบนเส้นทางที่รถไฟแล่นผ่านจะมีหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI หลากหลายประเภทมาคอยให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งรวมถึงการขนย้ายกระเป๋าเดินทางและทำหน้าที่บอกทางด้วย

ประเทศจีนมีระบบรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือมีระยะทางวัดได้รวมทั้งสิ้น 139,000 กิโลเมตร ซึ่งมากพอที่จะพันรอบ หรือห่อหุ้มโลกได้ 3 เท่า ตามข้อมูล ณ สิ้นปี 2019 ระบุว่า จีนมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย โดยครอบคลุมระยะทางถึง 35,000 กิโลเมตร หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของรถไฟไฮสปีดที่มี อยู่ในโลก

จีนกำลังลงทุนอย่างหนักในการก่อสร้างระบบรางรถไฟ โดยรัฐบาลจีนมีแผนจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 2.8 ล้านล้านหยวน หรือเกือบ 12 ล้านล้านบาทในการก่อสร้าง ทางรถไฟใหม่เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 23,000 กิโลเมตรระหว่างปี 2016-2020

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลปักกิ่ง ได้ใช้เงินลงทุนก่อสร้างทางรถไฟครั้งใหญ่ที่สุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2013-2017

รางรถไฟระยะทางเกือบ 30,000 กิโลเมตร ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นรางรถไฟความเร็วสูงมีการก่อสร้างเสร็จแล้ว โดยใช้งบประมาณรวม 15.6 ล้านล้านบาท

ที่มา: เว็บไซต์เดลี่ เมล

[บทความนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์โลกลมจอแบน โดยลิเวอร์ เบิร์ด เซ็คชั่นเสาร์สวัสดี หน้า 5 ฉบับวันเสาร์ที่ 11 มกราคม 2563 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ]