สำรวจ ‘ใครได้-ใครเสีย’ เมื่อราคา ‘น้ำมันโลก’ พุ่ง

สำรวจ ‘ใครได้-ใครเสีย’ เมื่อราคา ‘น้ำมันโลก’ พุ่ง

นับแต่วิกฤตราคาน้ำมันเมื่อปี 2557 กดดันราคาร่วงจากระดับ 100 ดอลลาร์บาร์เรล มาเหลือเพียง 30 – 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดูเหมือนว่าสาเหตุของการดิ่งลงในคราวนั้น เกิดจากกฎพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์อย่างเรื่องของ ‘อุปสงค์' และ 'อุปทาน’

ในขณะนั้นอุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะทางฝั่งของสหรัฐ ซึ่งสามารถผลิตน้ำมันจากชั้นหิน (Shale oil) ได้สำเร็จ ทำให้ปริมาณน้ำมันในระบบเพิ่มขึ้นราว 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ปี 2551 สวนทางกับอุปสงค์ หรือความต้องการน้ำมันในช่วงนั้น ซึ่งเติบโตเพียง 7 แสนบาร์เรลต่อวัน เนื่องจาก 3 เศรษฐกิจหลักของโลกอย่าง ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เกิดอ่อนแอลงในเวลาไล่เลี่ยกัน

ช่วงเวลากว่า 2 ปีที่ราคาน้ำมันจมอยู่ในระดับต่ำ ทำให้อุปทานในระบบหายไปมาก ราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัวได้อีกครั้ง และวิ่งไปแตะ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะอ่อนตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 50 – 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ข้ามมาในปัจจุบัน สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดสงครามตามมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นไปแตะ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 เดือน

คงเป็นความยากที่จะคาดเดาว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะปะทุจนกลายเป็นสงครามจริงหรือไม่ หรือราคาน้ำมันจะวิ่งขึ้นไปต่อได้ไกลขนาดไหน แต่หากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวสูงขึ้น แน่นอนว่าย่อมมี 'ผู้ที่ได้ประโยชน์' และ 'เสียประโยชน์' จากสถานการณ์เหล่านี้

ในภาพกว้าง ผู้ผลิตน้ำมันย่อมได้รับผลบวกไปเต็มๆ หากราคาน้ำมันสูงขึ้น เราคงจะได้เห็นประเทศผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่อย่าง กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รัสเซีย แคนาดา รวมถึงสหรัฐ มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น และเมื่อย้อนกลับมามองในประเทศ...

157863158469

วิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง มองว่า บริษัทต้นน้ำอย่าง ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของไทย น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะราคาขายน้ำมันจะปรับตัวขึ้นตามราคาขาย ขณะที่ต้นทุนมักจะไม่ได้ปรับขึ้นตามมากนัก

ส่วนธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน อาทิ ไทยออยล์ (TOP) หรือสตาร์ ปิโตรเลยม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับกำไรพิเศษจากสต๊อกสินค้าที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นตาม แต่ผลบวกที่เกิดขึ้นนี้มักจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หากราคาน้ำมันปรับขึ้นแค่ระยะเวลาหนึ่ง

ในมุมกลับกัน เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมาก ธุรกิจที่มีต้นทุนเป็นน้ำมันย่อมได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายการบิน โลจิสติกส์ รวมถึงธุรกิจอย่างรับเหมาก่อสร้าง

สำหรับสายการบินแล้ว น่าจะเหนื่อยมากยิ่งขึ้น เพราะน้ำมันถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ ขณะที่ภาวะการแข่งขันในปัจจุบันก็ค่อนข้างสูง ทำให้การปรับราคาขายอาจจะไม่ได้มากเท่ากับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ส่วนโลจิสติกส์ อาจจะต้องพิจารณาประกอบกับเรื่องของสงครามการค้า ซึ่งเป็นประเด็นกดดันมาก่อนหน้านี้ ในปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับมาได้ดี ก็อาจจะช่วยลดผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้

ขณะที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มักจะต้องเผชิญกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่จะปรับเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ปูนซิเมนต์ กระเบื้อง

“ในเบื้องต้นเราประเมินราคาน้ำมัน (อิงน้ำมันดิบ Brent) เฉลี่ยปีนี้ที่ 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยอาจจะเห็นราคาปรับขึ้นไปได้ถึง 70 – 72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เชื่อว่าจะไม่ปรับขึ้นไปได้ไกลนัก แม้ว่ากลุ่มโอเปกจะพยายามลดกำลังการผลิตลง แต่สหรัฐซึ่งสามารถผลิต Shale oil ได้แล้ว น่าจะฉวยจังหวะในการเร่งผลิตเพิ่มขึ้น”

นอกจากนี้ ผลกระทบที่มักจะตามมาหลังจากนั้นคือ ‘เงินเฟ้อ’ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าโดยภาพรวมปรับตัวขึ้น ย่อมทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตาม ขณะเดียวกันกันหากรายได้ไม่ได้ปรับขึ้นตาม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นผู้ค้าน้ำมัน ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงหลังจากนั้น

ด้าน 'กลุ่มพลังงานทดแทน' อาจจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ทางอ้อม เมื่อต้นทุนพลังงานหลักสูงขึ้น ความต้องการใช้พลังงานทดแทนจะเพิ่มสูงขึ้นหากต้นทุนพลิกกลับมาต่ำกว่า

ท้ายที่สุดไม่ว่าราคาน้ำมันจะปรับขึ้นหรือลง การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับทุกๆ สถานการณ์จะช่วยให้มองเห็นโอกาส และปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้