'หมออนามัย' เตรียมลุกฮือ

'หมออนามัย' เตรียมลุกฮือ

หมออนามัยเตรียมยกขบวนบุกสธ. พ้อถูกดองข้อบังคับสภาการสาธารณสุข 7 ฉบับร่วม 2 ปี ลั่นส่อ เลือกปฏิบัติ-ละเว้นหน้าที่ ขัดขวางการเกิดวิชาชีพ ไม่ให้มีสิทธิทัดเทียมวิชาชีพอื่น ร่อนหนังสือขอเข้าพบ “อนุทิน”

           นายริซกี สาร๊ะ กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน และโฆษกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า ข้อบังคับของพรบ.สุขภาพปฐมภูมิ หรือเดิมใช้ชื่อพรบ.การแพทย์ปฐมภูมินั้น กองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)รวม 9 ฉบับ.สำเร็จได้ภายใน 1 ปี แตกต่างจากข้อบังคับ 7 ฉบับของสภาการสาธารณสุขชุมชนที่ถูกดึงรั้งใช้เวลากว่า 2 ปีนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดย 3 ฉบับแรก กองกฏหมายส่งเอกสารวกไปวนมา ทั้งที่สภาการสาธารณฯผ่านการทำประพิจารณ์มาแล้ว กองกฏหมายยังทำหนังสือสอบถามผู้คัดค้านซ้ำแล่วซ้ำเล่า โดยไม่ยอมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)พิจารณา และอีก4 ฉบับเป็นข้อบังคับที่ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพอื่น ก็มีแนวโน้ทจะซ้ำรอยเดิม โดยความเห็นของกองกฏหมายอ้างว่า มี 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอื่น ต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน ส่วนอีก 2 ฉบับ รอให้ 2 ฉบับแรกดำเนินการแล้วเสร็จ ค่อยเสนอรมว.สธ.พร้อมกัน
            “ไม่รู้ว่าการกระทำที่มีเจตนาให้ล่าช้า การเลือกปฏิบัติ การละเว้นหน้าที่เช่นนี้ เป็นการกระทำของกองกฏหมายเอง หรือเป็นใบสั่งจากใคร เพื่อขัดขวางการเกิดวิชาชีพนี้ มิให้วิชาชีพนี้มีสิทธิทัดเทียมวิชาชีพอื่น และตัดตอนนักสาธารณสุข เร็วๆนี้ นักสาธารณสุขหรือหมออนามัยทั่วประเทศคงจะต้องไปสอบถามที่กองกฏหมายเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 นายไพศาล บางชวด และทีมงานสภาการสาธารณสุขชุมชน ทำหนังสือขอเข้าพบนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อหารือและชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว หากผลการหารือไม่มีความชัดเจนใดๆ นักสาธารณสุขทั่วประเทศ พร้อมยกขบวนไปสวัสดีปีใหม่ กองกฏหมาย ทันที”นายริซกีกล่าว
           นายริซกี กล่าวอีกว่า ด้วยความห่วงใยต่อสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ถือเป็นบทบาทของสภาวิชาชีพที่ต้องเร่งติดตามทวงถามกฎหมายลำดับรองทั้ง 7 ฉบับ ที่เสนอต่อรมว.สธ. ในฐานะสภานายกพิเศษ เพื่อพิจารณาลงนามและให้ความเห็นชอบต่อร่างระเบียบสภาและร่างข้อบังคับสภาทั้ง 7 ฉบับ ซึ่งกรรมการสภามีสิทธิที่จะต้องปกป้องสิทธิและผลกระทบที่จะเกิดมีขึ้นตามมาด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชนมีมติสภายืนยันชัดเจน ผ่านขั้นตอนกระบวนการรับฟังความเห็นไว้ตามรัฐธรรมนูญ และมีหนังสือเสนอรมว.สธ. ไปหลายรอบ ทั้งรัฐมนตรีว่าการ สธ.คนเก่า จนมีรัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง เรื่องก็ยังวนไปวนมาเหมือนเดิม
             นายริซกี กล่าวด้วยว่า คำถามสุดท้ายคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับรู้เรื่องเหล่านี้หรือไม่ ว่าหนังสือที่เสนอไป เฉียดไปเฉียดมาหน้าห้องทำงาน และกองกฏหมายทำหนังสือสอบถาม 7 วิชาชีพทันทีทันใดซ้ำแล้วซ้ำแล้ว แต่ไม่ส่งหนังสือความเห็นต่างๆถึงสภาการสาธารณสุข และเหตุใดจึงมีความล่าช้าเนิ่นนานมาก ปล่อยให้เรื่องการออกกฎหมายลูกเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนที่จะดูแลประชาชนในชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ กลับถูกรอนสิทธิ