เมืองคาร์บอนต่ำยั่งยืน I Green Pulse

เมืองคาร์บอนต่ำยั่งยืน I Green Pulse

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการฝึกอบรม “การส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”

และโครงการ “การพัฒนาแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด” ระหว่าง อบก. กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 34 แห่ง

และอีก 5 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ นครราชสีมา สุพรรณบุรี และอุทัยธานี

โครงการ“การส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น”และโครงการ“การพัฒนาแนวทางลดก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด”จัดทำขึ้นเพื่อให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และเป็นแบบอย่างให้จังหวัดและเทศบาลอื่นๆ มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเรื่องการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ

หลังจากประเทศไทยได้ร่วมลงนามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ตั้งแต่ปี 2537 และร่วมลงนามพิธีสารโตเกียวเมื่อปี 2545 และล่าสุดปี 2559 ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีว่าจะปฏิบัติตามความตกลงปารีส (COP21) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2559, ไทยจะต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 20-25% จากปัจจุบันในอีก 15 ปีข้างหน้า 

อบก.ในฐานะหนึ่งในองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้ผลักดันกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ อปท.ให้สามารถจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการจัดการระดับพื้นที่ (Area-based) หรือที่เรียกว่าเมืองลดคาร์บอน (Low-carbon City)

โดยการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร(Carbon Footprint for Organization: CFO) เป็นวิธีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กรและคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับและภาคส่วนต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังมีน้อยมาก เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้และไม่ทราบเทคนิคและวิธีการคำนวณ อบก. จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อเตรียมท้องถิ่น เข้าสู่การเป็นภาคส่วนหนึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ทั้งนี้ จากการจัดทำโครงการที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2554, มีเทศบาลเข้าร่วมโครงการแล้วทั้งสิ้น 149 แห่ง

เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง อบก. ได้จัดอบรมเผยแพร่ความรู้ด้านการรายงานข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2560 ควบคู่กัน โดยมีจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ารับการอบรมแล้ว 547 แห่ง เพื่อสื่อสารให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงประโยชน์ในการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งใช้เป็นฐานคิดคำนวนที่สำคัญในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก และดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองลดคาร์บอน 

โดยแผนงานฝึกอบรมในระยะที่สอง คาดว่าจะดำเนินการต่อเนื่องในปีนี้

ภาพ/ระบบจราจรเมืองเชียงใหม่/ CM-PMAP