ตึงเครียดการค้า-ปัญหาการเมืองฉุดศก.อาเซียนโตช้าปี2563

ตึงเครียดการค้า-ปัญหาการเมืองฉุดศก.อาเซียนโตช้าปี2563

ตึงเครียดการค้า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในหลายพื้นที่ของโลก ฉุดเศรษฐกิจอาเซียนและอินเดียขยายตัวอย่างช้าๆปี2563

ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เศรษฐกิจเอเชียก็ออกอาการซึมไปด้วย ล่าสุด รายงานสำรวจความเห็นเหล่านักเศรษฐศาสตร์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น(เจซีอีอาร์)และเว็บไซต์ นิกเคอิ บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจในประเทศก้าวหน้าในอาเซียนและอินเดียจะฟื้นตัวในปีหน้าแต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่

รายงานชิ้นนี้ ระบุว่า แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนและอินเดียยังคงอ่อนแอในปีหน้า หลังจากชะลอตัวลงในปีนี้ และการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงดำเนินอยู่ โดยคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2563ของ5ประเทศใหญ่ๆในกลุ่มชาติสมาชิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)5 ประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.2% จากที่คาดการณ์ในปีนี้ว่าจะขยายตัวที่อัตรา 3.9% แต่ตัวเลขนี้ยังคงต่ำกว่าระดับของเมื่อปี 2561 อยู่มาก ทั้งยังคาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในปีงบประมาณ 2562/2563 อยู่ที่ 5.0% ลดลงมากจาก 6.8% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณที่แล้ว

157740377526

ทั้งนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสอบถามในรายงานชิ้นนี้ มองว่า ปัจจัยเสี่ยงในปีหน้าที่จะฉุดเศรษฐกิจให้ขยายตัวน้อยลงคือ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในหลายพื้นที่ของโลก ตลอดจนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมแก่ประเทศต่างๆ

รายงานวิจัยชิ้นนี้เป็นรายงานรายไตรมาสและสำหรับชิ้นนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 22 พ.ย.-11 ธ.ค.ผ่านการสอบถามความเห็นนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 44 คนใน5ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอาเซียนได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และอินเดีย

รายงานวิจัยชิ้นนี้ ได้แยกแยะความท้าทายในปี2563 เป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลก จะเกิดจากปัญหาความตึงเครียดการค้าสหรัฐ-จีน การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนความเสี่ยงของอินโดนีเซียที่จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจประกอบด้วย การปฏิรูปเศรษฐกิจ การขาดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนของมาเลเซีย ปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วย การเมืองของอินโดนีเซียและการผลักดันนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม

157740378685

ขณะที่ ฟิลิปปินส์ ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และการผลักดันนโยบายให้เกิดผลลัพธ์ ส่วนสิงคโปร์ ปัจจัยเสี่ยงคือ ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวที่อาจจะส่งผลให้การส่งออกของประเทศนี้พลอยซบเซาไปด้วย ไทย ปัจจัยเสี่ยงคือ การดำเนินนโยบายการเงิน-การคลัง และปัญหาการเมือง ส่วนอินเดีย ปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องรับมือในปีหน้าคือ การจัดสรรงบประมาณและวิกฤตการเงิน

รายงานของเจซีอีอาร์และนิกเคอิ ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปี2562ลงประมาณ 0.2%จากการสำรวจครั้งก่อนเมื่อเดือนก.ย.เหลือขยายตัวที่ 3.9% ถือเป็นการปรับลดแนวโน้มติดต่อกันเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อเดือนก.ย.ปี2561

ส่วนการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี2563 ไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจก่อนหน้านี้ที่ 4.2% และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ปี2562 ประมาณ 0.3% แต่ไม่แข็งแกร่งเทียบเท่า 5.0% ในปี 2560 และ4.8% ในปี2561 โดยภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดจะเกิดกับประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ทั้งมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียจะลดลงจาก 4.7% ในปี 2561 เป็น 4.5% ในปี 2562 และลดลงเหลือ 4.3% ในปี 2563

ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงประมาณ 0.5% ขยายตัวที่อัตรา 2.4% ลดลงประมาณ 1.7% จากปี 2561 และคาดการณ์ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลงประมาณ 0.4% ขยายตัวที่อัตรา 2.6% เพราะผลพวงจากความไม่แน่นอนทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เช่นเดียวกับ เศรษฐกิจของสิงคโปร์ ที่คาดว่าจะชะลอตัวลง 0.7% ในปีนี้ จาก 3.1% ในปี2561 และคาดว่าในปี2563 เศรษฐกิจสิงคโปร์จะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย

157740379724

สำหรับอินโดนีเซีย คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 5% ในปีนี้ ลดลงเล็กน้อยจากการคาดการณ์ครั้งก่อน โดยความต้องการภายในประเทศของอินโดนีเซียยังคงแข็งแกร่งแต่เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงถูกกดดันจากการส่งออกที่ลดลงขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ส่วนเศรษฐกิจอินเดียในปี2562 ชะลอตัวอย่างมาก ขยายตัวในอัตรา 5.0% และ4.5% ในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. และช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.ตามลำดับ เพราะผลพวงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการที่ภาคการเงินของอินเดียกำลังประสบปัญหาอย่างหนักเข้าขั้นวิกฤติ รายงานชิ้นนี้จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียในปีงบประมาณ 2562/2563 จะปรับตัวลดลงประมาณ 1.1% ขยายตัวที่อัตรา 5.0%

“ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับการคุมเข้มทางการเงิน ซึ่งรวมถึงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในอินเดีย ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนี้ปรับตัวลดลง”รายงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุ