จับตา 'ไมเคิล บลูมเบิร์ก' ชิงเก้าอี้ 'โดนัลด์ ทรัมป์'

จับตา 'ไมเคิล บลูมเบิร์ก' ชิงเก้าอี้ 'โดนัลด์ ทรัมป์'

"ไมเคิล บลูมเบิร์ก" นักธุรกิจและอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กของสหรัฐ ทุ่มเงินไปกับการหาเสียงเลือกตั้งทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อดิจิทัล และโทรทัศน์ 120 ล้านดอลลาร์ หวังชิงตำแหน่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ได้ในการเลือกตั้งปี 2563

บลูมเบิร์ก เริ่มต้นหาเสียงด้วยการกล่าวโจมตีทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันว่า “ผมขอสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเพื่อโค่นนายโดนัลด์ ทรัมป์ เรายอมให้เกิดการกระทำที่สะเพร่าและไร้จรรยาบรรณของประธานาธิบดีทรัมป์อีก 4 ปีไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”

แม้การขึ้นเวทีหาเสียงของบลูมเบิร์ก ค่อนข้างจะช้าไปหน่อย เมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่น ๆ อย่าง “โจ ไบเดน” อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญของทรัมป์ รวมถึง “เอลิซาเบธ วอร์เรน” วุฒิสมาชิกรัฐแมสซาชูเซตส์ และ “เบอร์นี แซนเดอร์ส” อดีตวุฒิสมาชิกอิสระจากรัฐเวอร์มอนท์ ซึ่งประกาศแคมเปญหาเสียงไปเมื่อหลายเดือนก่อน

เว็บไซต์สำนักข่าวโพลิติโค ซึ่งเป็นสื่อการเมืองชั้นนำของสหรัฐ รายงานว่า บลูมเบิร์ก ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2563 จากพรรคเดโมแครต มียอดการใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งทางสื่อดิจิทัลและทีวี สูงถึง 120 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่เริ่มการหาเสียงในเดือนที่แล้ว โดยใช้จ่ายเงินไปกับการหาเสียงในรัฐต่างๆ ทั้งหมด 50 รัฐ แต่รัฐที่เขาหวังได้คะแนนเสียงมากที่สุดคือรัฐแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส และฟลอริดา

เม็ดเงินที่บลูมเบิร์กใช้จ่ายไปกับการโฆษณาในช่วงเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่เริ่มรณรงค์หาเสียงตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย. มีมูลค่าสูงกว่า 2 เท่าของยอดการใช้จ่ายรวมกันทั้งปีนี้ของตัวแทนพรรคเดโมแครตคนอื่นๆ

นักวิเคราะห์บางคน รวมถึง คริสเตียน เฮเอียนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากบริษัทเซเบอร์ คอมมูนิเคชันส์ มีความเห็นว่า การใช้จ่ายเงินจำนวนมากที่หมดไปกับการหาเสียงเลือกตั้งของบลูมเบิร์ก อาจจะไม่ได้ช่วยให้คะแนนนิยมของเขาเพิ่มขึ้น

บลูมเบิร์ก เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัทบลูมเบิร์ก แอล.พี. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบลูมเบิร์ก นิวส์ และเป็นนักธุรกิจที่ทำเงินได้มหาศาล เขาจึงค่อนข้างมีความได้เปรียบทางการเงินเมื่อเทียบกับผู้สมัครคนอื่น ๆ แม้จะเริ่มหาเสียงช้าก็ตาม

นอกจากนี้ การจ่ายเงินไปกับการหาเสียงเลือกตั้งของบลูมเบิร์ก ถูกมองจากผู้สมัครคู่แข่งว่า เป็นการหว่านเงินของมหาเศรษฐี และมหาเศรษฐีไม่ควรซื้อการเลือกตั้ง

“การเลือกตั้งไม่ควรมีการซื้อขาย ไม่ใช่กับมหาเศรษฐี ไม่ใช่กับผู้บริหารใหญ่ เราต้องสร้างความเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า ดิฉันเข้าใจดีว่าพวกคนรวยจะมีโอกาสมากกว่าเรา พวกเขาอาจจะมีรองเท้ามากกว่าเรา มีรถมากกว่าเรา มีบ้านมากกว่าเรา แต่เขาจะไม่ได้รับคะแนนเสียงบนเวทีประชาธิปไตยไปมากกว่าเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งขั้นต้นของเดโมแครต” วอร์เรน กล่าว

ด้านแซนเดอร์ส กล่าวว่า “เรามีประเทศที่เอื้อประโยชน์ต่อมหาเศรษฐี เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ แต่ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับชาวสหรัฐที่เหลือ และหากเดโมแครตได้ตัวแทนเป็นมหาเศรษฐีและผู้บริหารระดับชั้นนำ เราก็จะมีประเทศที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนระดับบนเท่านั้น”