พบเด็กนอกระบบชุดแรก 23,382 คน

พบเด็กนอกระบบชุดแรก 23,382 คน

20 จังหวัดสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา สำรวจพบตัวเด็กนอกระบบชุดแรกแล้ว 23,382 คน กสศ.เผยมีเคสเร่งด่วนต้องช่วยทันที 13,382 คน เร่งทำแผนช่วยรายคน ยึดความต้องการเด็กเป็นตัวตั้ง ป้องกันหลุดนอกระบบซ้ำ

วันนี้ (24 ธ.ค.) นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เปิดเผยความคืบหน้าการช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาของ 20 จังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี ยะลา ขอนแก่น อำนาจเจริญ มหาสารคาม นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี นครนายก ระยอง และกาญจนบุรี รวม155 อำเภอ

โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 พบเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาชุดแรกจำนวน 23,382 คน จากการเก็บข้อมูลรายบุคคลพบเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน จำนวน 13,263 คน

จากการสำรวจเราพบปัญหาหลักๆ 4 ด้าน ดังนี้ 1.ครอบครัว/สังคม 2.เศรษฐกิจ 3.พฤติกรรม และ4.สุขภาพ

แบ่งกลุ่มการช่วยเหลือเป็น 1.ความต้องการเตรียมความพร้อมหรือฟื้นฟูเยียวยาก่อนเข้าศึกษาต่อ/ฝึกอาชีพจำนวน 7,845 คน 2. ต้องการศึกษาต่อจำนวน 4,250 คน และ3.ต้องการฝึกอาชีพจำนวน 3,923 คน

ขณะนี้ทั้ง 20 จังหวัดอยู่ระหว่างจัดทำแผนช่วยเหลือรายกรณีโดยทีมสหวิชาชีพ เพราะเด็กแต่ละคนมีสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้กสศ.จะสนับสนุนทุนการศึกษาและพัฒนาอาชีพเบื้องต้นกรณีละ 4,000 บาท รวมถึงมีระบบพี่เลี้ยงติดตามการช่วยเหลือรายคน เพื่อป้องกันการหลุดออกนอกระบบซ้ำ

ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า คาดว่าทั้ง 20 จังหวัดจะสำรวจพบตัวเด็กนอกระบบทั้งหมดได้ภายในกลางปี 2563 การค้นหาและช่วยเหลือเด็กนอกระบบนั้นเป็นงานที่ยาก เพราะปัญหามีความซ้ำซ้อน เด็กจำนวนมากไม่ได้อาศัยอยู่ตามทะเบียนบ้าน เร่ร่อน ไม่เป็นหลักแหล่ง ต้องอาศัยกลไกพื้นที่ และทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเข้าใจในตัวเด็กสูง

โดยเป้าหมายในการดูแลเด็กนอกระบบของ กสศ.และ 20 จังหวัดนำร่อง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.เด็กปฐมวัย 2-6 ปีที่ยากจน สามารถเข้ารับการดูแลโดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือหรือโรงเรียนในพื้นที่ 2.เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ให้เข้าศึกษาต่อในกศน.

โรงเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น และมีระบบแนะแนวเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบซ้ำ 3. เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ประสงค์จะได้รับการฝึกอาชีพ ให้สามารถหารายได้ดูแลตนเองและครอบครัว ด้วยการฝึกทักษะอาชีพ โดยกลไกจังหวัดจะประสานความร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษา พัฒนา ฝีมือแรงงาน วิทยาลัยการอาชีพ

นายประเสริฐ สุขจิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองลีง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ความยากจนทำให้ต้องออกจากระบบการศึกษา หรือบางคนไม่ถนัดการเรียนในห้องเรียนหรือทางวิชาการ เราต้องให้โอกาสและดึงพลังของเด็กกลุ่มนี้ออกมาให้ได้ใช้ความสามารถที่มีอย่างเต็มที่ แนวทางของเราคือการส่งเสริมความถนัดในทุกๆ มิติของเด็ก

ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือค้นหาความต้องการที่แท้จริงของเขาให้พบ ต้องเข้าไปในใจของเขาให้ได้ก่อน แล้วเมื่อเขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ ก็จะอยู่ในระบบการศึกษาได้ ระหว่างนั้นเราก็ค่อยสอดแทรกความรู้ทางวิชาการให้ ซึ่งจะดีกว่าที่เราจะบังคับให้ทุกคนเรียนเหมือนกันหมด นั่นยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่อยากอยู่ในห้องเรียน และมีโอกาสหลุดนอกระบบระบบซ้ำอีก

นางจิรนันท์ เครือจันทร์ ครูผู้ดูแลเด็กนอกระบบและรับผิดชอบด้านพัฒนาทักษะ จังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า หลังจากได้ลงพื้นที่ค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบช่วงเดือนกันยายน พื้นที่รับผิดชอบคือตำบลเมืองลีง เป็น 1 ใน 10 ตำบลนำร่อง อำเภอจอมพระ เป็น 1 ใน 25 พื้นที่ค้นหาเด็กนอกระบบของจังหวัดสุรินทร์

จากรายชื่อที่ได้รับแจ้งจำนวน 358 คน งานค้นหาเริ่มต้นที่ตรวจสอบสถานะเด็กกับผู้ใหญ่บ้าน เบื้องต้นมุ่งเป้าไปที่คนที่เขาสนใจอยากกลับมาเรียนต่อจริง ๆ ขณะนี้ทางตำบลได้รับเด็กเข้ามาอยู่ในความดูแล 30 คน และสามารถพาเด็กเข้าเรียนในระบบการศึกษานอกโรงเรียนได้ทันที 17 คน

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งได้เลยช่วงวัยที่จะกลับเข้าไปเรียนในโรงเรียนตามระดับชั้นที่หลุดจากการศึกษาได้จะมีกลไกการฟื้นฟูเพื่อให้เข้าเรียนได้ในเทอมหน้าหรือหาเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป เช่น การฝึกอาชีพตามความถนัด

น้องอั๋น เป็น 1 ในเด็กนอกระบบที่ได้กลับเข้าเรียน กล่าวว่า ต้องหยุดเรียนไปหลังจบชั้น ม.3 เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียให้เรียนต่อ ทั้งที่เรียนจบมัธยมต้นด้วยเกรดเฉลี่ย 3.2 หลังจากที่ต้องหยุดเรียนไป 3 ปี ไปทำงานในโรงปูนบ้าง ทำพวงหรีดบ้าง ทั้งยังต้องช่วยแม่เลี้ยงน้องและช่วยดูแลตาที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง

วันที่ครูลงมาสำรวจพื้นที่ ยังไม่มีเงินไปรับวุฒิการศึกษา ม.3 ที่โรงเรียนด้วยซ้ำ หลังทราบเรื่องครูจึงพาไป และตอนนี้ได้เข้าเรียน กศน. ก็ดีใจ ตั้งใจว่าจบแล้วอยากเรียนต่อเกี่ยวกับการออกแบบเสื้อผ้า เพราะมีความฝันอยากทำงานในสายงานนั้น วันนี้แม้จะรู้ว่าเป็นเรื่องที่ยังห่างไกล แต่การได้กลับมาเรียนอีกครั้งก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตนกล้าที่จะฝันและพยายามต่อไป