'รูดบัตร' ช้อปออนไลน์พุ่ง 'คลัง'อุดช่องโหว่รีดภาษี

'รูดบัตร' ช้อปออนไลน์พุ่ง 'คลัง'อุดช่องโหว่รีดภาษี

ธุรกิจบัตรเครดิตเผยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพื่อชอปปิงออนไลน์โตกระฉูด 25-50% พีคสุดไตรมาส 4 ของทุกปี สัดส่วนช้อปจากเว็บต่างประเทศ 25-30% "ลาซาด้า ช้อปปี้" มาแรง ขณะที่มูลค่ารูดซื้อต่อรายการเล็กลง ด้านกระทรวงคลังเร่งผลักดันกฎหมายอีบิซิเนส อุดรอยรั่วเก็บภาษี

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านนี้ ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเครือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ผ่านช่องทางออนไลน์เติบโต 19.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคิดเป็น 9.2% ของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งหมด เป็นการรูดซื้อสินค้าออนไลน์ต่างประเทศสัดส่วน 25% หรือ 6 พันล้านบาท ขณะที่เป็นยอดซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บในประเทศราว 1.7 หมื่นล้านบาท โดยเว็บไซต์ที่คนซื้อสินค้ามากสุด 5 อันดับแรก คือ 1.Shopee 2.Lazada 3.Facebook 4.Air Asia 5.Agoda สำหรับแนวโน้มยอดรูดซื้อสินค้าออนไลน์หลังจากนี้ ยังเติบโตได้ดีน่าจะอยู่ที่ 25% และในช่วงไตรมาส 4 ของปี มักมียอดการซื้อออนไลน์สูงที่สุด

"ตอนนี้การช้อปปิ้งออนไลน์และออฟไลน์ เกื้อหนุนกันได้มากขึ้นและดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน หรือที่เรียกว่า Omni channel ยิ่งตอนนี้มีแพลตฟอร์ม อย่าง Facebook Instagram หรือ Line จะยิ่งช่วยทำให้การซื้อผ่านออนไลน์และออฟไลน์ประสานกันได้ดีขึ้น แต่ยังมองว่าหน้าร้านต้องปรับตัวโดยเอา digital experience เข้ามาไว้ที่หน้าร้านมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน"

อ่านช่าวเพิ่มเติม : 

'ยักษ์จีน' ฮุบอีคอมเมิร์ซไทย จี้รัฐเข้มกำกับก่อนลามกระทบภาคผลิต-ค้าปลีกทั้งระบบ

'ภาษีดิจิทัล' ดาบสองคมธุรกิจออนไลน์

ค้าปลีกเร่งบูม 'ออนไลน์' ชี้ 3 ปียอดโตก้าวกระโดด


  • '5 สินค้า' ช้อปออนไลน์สูงสุด

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตสำหรับการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ (ที่ไม่ใช่ท่องเที่ยว) ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท เติบโตประมาณ 50% เป็นอัตราการเติบโตที่น่าพอใจจากในปี 2560 เติบโตเพียง 35% เท่านั้น โดยเป็นการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์จากร้านค้าต่างประเทศ (ตามการจดทะเบียนของเว็บไซต์)​ ประมาณ 30% และอีก 60% เป็นร้านค้าในประเทศ

แนวโน้มคนเข้ามาช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากภาพรวมการทำธุรกิจออนไลน์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตก้าวกระโดด ผู้ประกอบการปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้ดี และทำให้ช่องทางธุรกิจสู่ช่องทางออนไลน์ของบริษัทถือว่าเติบโตไปได้ด้วยดี โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตไม่ต่ำกว่า 45% หรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท จากเป้ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 15% หรือ 2.2 แสนล้านบาท 

สำหรับ 5 หมวดสินค้าที่มีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์สูงสุด ได้แก่ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าตกแต่งภายในบ้าน สินค้าแม่และเด็ก ขณะที่การใช้จ่ายออนไลน์เพื่อซื้อสินค้าและบริการ (ยกเว้นท่องเที่ยว) เป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของการใช้จ่ายออนไลน์ทั้งหมด ยังเติบโตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะช้อปปิ้งออนไลน์ นอกจากสินค้าเสื้อผ้าแล้วยังมีบริการใหม่ๆ เช่น แม่บ้าน ซ่อมรถ ล้างแอร์ เป็นต้น 

ขณะที่ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่าเล็กลงจาก 2 พันบาทต่อบัตร ปัจจุบันอยู่ที่ 1.6 พันบาทต่อบัตร และจะลดลงเรื่อยๆ จากการขยายการใช้จ่ายในร้านค้าที่เป็นรายการเล็กลงมากขึ้น เช่น music streaming เป็นต้น โดยบริษัทยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ขยายยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์ โดยหาสิทธิประโยชน์ด้านออนไลน์มาตอบโจทย์ความต้องการ ที่ไม่น้อยไปกว่าการใช้บัตรในร้านค้าทั่วไป นอกจากนี้จะขยายจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้งานแอพพลิเคชั่นเคทีซีในปีนี้อีก 5 แสนคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 1 ล้านคน และมีลูกค้าแอคทีฟที่เข้ามาใช้งานอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 90% จากปัจจุบันอยู่ที่ 80%

  • 'เว็บช้อปปิ้ง-ท่องเที่ยว' ฮิต

นางณัฐวรรณ อภิรัตนพิมลชัย หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารกลุ่มลูกค้าบุคคลระดับกลาง ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์บัญชีเพื่อใช้ "ทีเอ็มบี ออล์ ฟรี" ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2562) มีการใช้จ่ายผ่านบัตรไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนราย มูลค่าการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 14 เท่า ขณะที่ปริมาณการใช้ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นถึง 50% ถือได้ว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นพฤติกรรมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

จากสำรวจการใช้ "ทีเอ็มบี ออล์ ฟรี" พบว่า ช่วงเริ่มแรกเป็นฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นอายุตั้ง 25-35 ปี เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเริ่มมีกลุ่มวัยทำงานเริ่มมีครอบครัว อายุตั้งแต่ 35-10 ปี เข้ามามากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าช้อปปิ้งออนไลน์ เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ และครอบครัว นอกจากนี้ยังพบกลุ่มใหม่ๆ เช่น เดินทางไปศัลยกรรมประเทศเกาหลี และช้อปปิ้งร้านสินค้าแบรนด์เนมในยุโรป เป็นต้น โดยแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม เช่น LAZADA JD.co.th Shopee รวมถึงเพจท่องเที่ยว เช่น Travloka Agoda Booling.com

"การท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่าประเทศยอดฮิต คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน อังกฤษ และฮ่องกง มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 4 หมื่นบาทต่อราย บางรายการมียอดสูงเป็นหลักล้านบาท หรือเฉลี่ย 4 แสนบาทต่อราย สำหรับการเดินทางไปบริการศัลยกรรมที่เกาหลี และช้อปปิ้งกระเป๋าแบรนด์เนมในยุโรป" 

  • 'เฟิร์สช้อยส์' คาดยอดรูดสินค้าออนไลน์ปีหน้าโตไม่ต่ำ 30%

นางสาวณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด หรือบัตรเครดิตเฟิร์สชอยส์  เปิดเผยว่า ยอดรูดซื้อสินค้าออนไลน์ในปีนี้ของกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์เติบโตขึ้น 52% คิดเป็นสัดส่วน 6% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด คาดว่าแนวโน้มการเติบโตปีหน้าในส่วนนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 30%

ทั้งนี้ยังพบว่า ยอดรูดซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นสัดส่วนที่ใช้ในต่างประเทศสัดส่วน 21% และเติบโต 65% ส่วนมุมมองผลกระทบกับผู้ประกอบการออฟไลน์ อาจจะมีบ้างแต่ยังไม่มากนัก เพราะมีการปรับตัวประสานกับออนไลน์ได้ดีขึ้น สำหรับเว็บไซต์ที่ลูกค้าเข้าไปซื้อออนไลน์มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ 1.Shopee 2.Lazada 3.Air Asia 4.Facebook 5.Agoda 6.Traveloka 7.True money 8.Amway 9.AIS eservice และ 10.Linepay

  • คลังเร่งเก็บภาษีค้าออนไลน์ 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กฎหมายอีบิซิเนสจะเป็นกฎหมายสำคัญที่จะออกมารองรับการจัดเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์จากต่างประเทศ ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกระทรวงการคลังได้พยายามผลักดัน เพื่อให้ร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด คาดปีหน้าน่าจะได้เห็น 

การพิจารณากำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ในต่างประเทศจะต้องดูความเหมาะสม โดยไม่ไปจำกัดการค้าผ่านระบบออนไลน์ ในระหว่างรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ขอแนะนำให้ผู้ค้าผ่านระบบออฟไลน์หันมาค้าขายผ่านระบบออนไลน์ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและแข่งขันได้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายอีบิซิเนส คือ ผู้ประกอบการจากต่างประเทศจะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการในประเทศเพื่อเข้าระบบการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ร่างกฎหมายดังกล่าว จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีระหว่างธุรกิจต่างประเทศและในประเทศ ปัจจุบันยังมีความไม่เป็นธรรมอยู่มาก โดยใครที่ให้บริการในประเทศ ควรจะต้องเสียภาษีแวต ขณะนี้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ๆ ได้เข้ามาหารือ และพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายของเราแล้ว

ในปัจจุบันสินค้านำเข้าที่ผ่านระบบออนไลน์จากต่างประเทศได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีแวต หากมีมูลค่าบวกค่าระวางและประกันไม่เกิน 1,500 บาทต่อรายการ ทำให้เกิดความได้เปรียบกับผู้ประกอบการในประเทศเมื่อเทียบสินค้าที่จำหน่ายชนิดเดียวกัน ทางกระทรวงการคลังจึงมีนโยบายที่จะยกเลิกการยกเว้นดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

  • ร้านออนไลน์ 'นอกระบบ' มีสูง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สศค. เปิดเผยว่า หากกำหนดให้มีการตรวจสอบและจัดเก็บสินค้านำเข้าในทุกราคา จะทำให้การรั่วไหลของภาษีหมดไป โดยการปิดช่องโหว่ของภาษีค้าออนไลน์ในประเทศนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีผู้ค้าออนไลน์จำนวนมากที่อยู่นอกระบบภาษี 

ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ออกกฎหมายอีเพย์เมนท์ เพื่อให้ผู้ที่มียอดการเคลื่อนไหวในบัญชีเงินฝากตามที่กรมฯกำหนด ต้องถูกรายงานข้อมูลมายังกรมฯ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดเก็บภาษี กรมยืนยันว่า แม้จะไม่มีข้อมูลดังกล่าว มีข้อมูลด้านอื่นมาประกอบการพิจารณาอยู่แล้ว โดยใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ หรือ Web scraping และมีหน่วยที่จะติดตามธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษีด้วย