แนะดูแลหัวใจปกป้องชีวิต

แนะดูแลหัวใจปกป้องชีวิต

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อทุกระบบในร่างกาย เราจึงควรดูแลหัวใจ ป้องกันความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคร้ายทำลายหัวใจ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้หัวใจแข็งแรงปกป้องชีวิต

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า หัวใจเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญ  ต่อทุกระบบในร่างกาย อยู่ภายในทรวงอกตรงกลางค่อนไปทางซ้าย ทำหน้าที่เป็นปั้มคอยรับเลือดดำจากทั่วร่างกายไปฟอกที่ปอด หลังจากนั้นจึงนำกลับมาสูบฉีด เพื่อนำสารอาหารและอากาศไปเลี้ยงทั่วร่างกาย จึงถือได้ว่า หัวใจนั้น เป็นกำลังหลัก ในการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เราควรดูแลหัวใจให้แข็งแรงด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ สูบบุหรี่ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย ไม่รับประทานผัก ผลไม้ โรคอ้วนลงพุง และกรรมพันธุ์ เป็นต้น

แนะดูแลหัวใจปกป้องชีวิต

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า   หากหัวใจทำงานผิดปกติ จะพบอาการบ่งชี้ที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น แน่นหน้าอกอย่างรุนแรงคล้ายมีบางอย่างมากดทับ รู้สึกร้าวไปทั้งแขนด้านซ้าย นอกจากนี้รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือในบางรายมีการแสดงอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน เช่น ขณะทำงาน เล่นกีฬาหรืออยู่นิ่งๆแต่มีอาการแน่นหน้าอกที่รุนแรง เหงื่อออก ใจสั่น ปวดร้าวไปกรามและสะบักหลังแขนซ้าย จุกคอหอย บางรายมาด้วยอาการจุกลิ้นปี่คล้ายกรดไหลย้อน หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีเพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่ถูกวิธีและรักษาชีวิตได้อย่างปลอดภัย สำหรับการควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เราควรเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ดังนี้ ควรรับประทานอาหาร  ให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง ลดหวาน มัน เค็ม ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม งดสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด และพักผ่อนให้เพียงพอ หากสามารถปฏิบัติได้ตามที่กล่าวมาทั้งหมด    เพียงเท่านี้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้หัวใจแข็งแรงปกป้องชีวิตของเราได้อย่างปลอดภัย