เทคโนโลยีเปลี่ยนงานโลกอนาคต เผย7อาชีพมาแรง10ทักษะที่ต้องมี
การเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้รูปแบบการทำงานในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป นอกจากแรงงานจะต้องพัฒนาทักษะเพื่อให้เท่าทันกับกระแสดิสรับชั่นแล้ว ยังเกิดอาชีพใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์
World Economy Forum “Industry 4.0” ระบุว่า 10 ทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต ได้แก่ 1. การแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน (Complex problem solving) 2. ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) 3.การติดต่อประสานงานและการทำงานร่วมกัน (Coordinating with other) 4. การประเมินและตัดสินใจ (Judgement and decision making) 5. การเจรจาต่อรอง (Negotiation) 6. การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical thinking) 7. การบริหารด้านบุคคล (People management) 8. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligent) 9. การให้บริการ (Service orientation) และ 10. ความยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive Flexibility)
- 7 อาชีพมาแรงใน 10 ปีข้างหน้า
ขณะที่ Krungsri Kuru ระบุว่า 7 อาชีพที่มีแนวโน้มฮอตฮิตและมาแรงใน 10 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1. นักการตลาดออนไลน์ คือ ผู้ออกแบบโฆษณาแบบเนียนๆ ทำให้เราต้องควักเงินซื้อสินค้าหรือบริการ ใครเก่งมีฝีมือจริง รับรองไม่ตกงาน 2. นักเขียนแอพพลิเคชั่น คือ เขียนโปรแกรมแอพพลิเคชั่นบนมือถือ มีการจัดหมวดหมู่ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ค้นหาง่าย สบายตา ซึ่งจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ และจำเป็นอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้ 3. สตาร์ทอัพ ซึ่งถือเป็นความฝันของวัยรุ่นหลายคนที่ต้องการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย
4. นักบริหารความสัมพันธ์ อาจเป็นบล็อกเกอร์ หรือ อินฟลูเอ็นเซอร์ เก่งๆ ยิ่งมีคนติดตามอยู่จำนวนมาก ก็ยิ่งทำเงินได้ดี 5. กูรูออนไลน์ คนมักชอบอ่านข้อมูลที่ถูกย่อยออกมาให้เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ซึ่งหากมีทักษะเหล่านี้ รับรองว่าจะทำเงินได้อย่างคาดไม่ถึง 6. นักการตลาดอสังหาริมทรัพย์ นักโปรโมทสินค้าโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ใครทำตลาดเก่งรับรองเงินเดือนสูงลิ่ว และ 7. ผู้ดูแลเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ อาชีพนี้จะคอยสนับสนุนทุกอาชีพที่เกี่ยวข้องกับตลาดออนไลน์ สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียรูปแบบต่างๆ ตลอดจนบิ๊กดาต้า ที่ต้องใช้ในการนำไปวิเคราะห์ความเป็นไปของกิจการ
- อยู่รอดอย่างไรเมื่อธุรกิจถูกดิสรับ
สำหรับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ปัจจุบัน มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นประเด็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องทำงานร่วมกันในเรื่องของการอัพสกีล รีสกีล เพื่อเสริมทักษะแรงงาน รวมถึงการพัฒนาปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
ผศ.กันต์ธกรณ์ เขาทอง ผู้แทนจากภาคยานยนต์ กล่าวในงานการประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2562 ช่วงเสวนา เรื่อง The Future of Work กับมุมมองภาคธุรกิจ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ แรงงานอายุ 45 ปีขึ้นไป เพราะไม่ได้เติบโตมากับเทคโนโลยี แต่อีกมุมหนึ่งคือ คนกลุ่มนี้มีเวลาที่จะเป็นแรงงานอีกไม่นาน ดังนั้น แค่ปรับตัวเพียงเล็กน้อยได้ แต่สำหรับแรงงานวัย 25 ปีขึ้นไป ต้องมีการเทรนนิ่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น รัฐบาล และภาคธุรกิจ ต้องเข้ามาช่วยเสริมทักษะให้แรงงาน
“ทักษะสำคัญของอุตสาหกรรมยายนยนต์ คือ การปรับตัว หากเราเคยอยู่ในไลน์การผลิตแบบเดิมๆ พอถูกเลิกจ้าง ต้องเปลี่ยนงาน เราต้องมองว่าเราพร้อมจะปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะมีการใช้หุ่นยนต์เข้ามามากขึ้นหรือไม่ หรือเราจะเดินหนี หากเราคิดจะปรับตัว ปัจจุบัน มีคอร์สเทรนนิ่งของมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดสอนในด้านนี้ เราสามารถเลือกเรียนรู้เพิ่มเติมได้”
“การดิสรับชั่น ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่น่ากลัว เพราะโรงงานกว่า 80% ใช้หุ่นยนต์อยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่ในโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนประกอบ จะยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานค่อนข้างมาก เพราะการใช้หุ่นยนต์ต้องใช้ทุนสูง จ้างคนคุ้มกว่า ดังนั้น ต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรม ถ้ามีการปรับตัว คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา” ผศ.กันต์ธกรณ์ กล่าว
กวิน สุวรรณตระกูล ผู้แทนจากภาคการเงิน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่โดนดิสรับชั่นเป็นอันดับต้นๆ กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน หากเราจะลงทุนเราจะโทรหาโบรกเกอร์ แต่พอมีการพัฒนาข้อมูลมากขึ้น มีแอพฯ ที่อำนวยความสะดวกในการซื้อหุ้น ซื้อกองทุน ผ่านมือถือได้ สามารถคัดกรองหุ้น หรือกองทุนรวมตามเงื่อนไขที่เราต้องการ ไม่ต้องผ่านโบรกเกอร์ หรือนักวิเคราะห์
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ยังมีการแข่งขันด้านค่าธรรมเนียม ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเพราะรายได้น้อยลง ตอนนี้คนเป็นโบรกเกอร์จึงต้องหาอาชีพเสริม หรือพัฒนาตัวเอง เพื่อให้สามารถหารายได้ทางอื่น ทักษะจำเป็น คือ ต้องเป็นนักวิเคราะห์ที่ดี และสามารถให้คำตอบบางอย่างในระดับบุคคล ตอบคำถามลูกค้าได้ และลูกค้าลงทุนประสบความสำเร็จ จะทำให้ลูกค้ายังอยู่กับเราต่อให้เทคโนโลยีจะเข้ามาก็ตาม รวมถึงการเพิ่มทักษะในสิ่งที่เครื่องจักรทดแทนไม่ได้ ตอบโจทย์ความต้องการของคนแบบเบ็ดเสร็จ
- ม.40คุ้มครองแรงงานโลกอนาคต
ขณะเดียวกัน ปัญหาอย่างหนึ่งของคนที่ทำงานอิสระ คือ การเข้าไม่ถึงระบบคุ้มครองแรงงาน และทำให้พลาดโอกาสในการออมเพื่ออนาคต สำนักงานประกันสังคม ในฐานะดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน ได้จัดทำสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40 เมื่อปี 2554 ปัจจุบัน มีสมาชิกเพียง 3 ล้านคน จากผู้ประกอบอาชีพอิสระทั่วประเทศกว่า 24 ล้านคน
รศ.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า สังคมข้างหน้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกไม่นาน 5G จะเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน มีแรงงานอิสระเพิ่มขึ้น คือ ทำงานอยู่กับบ้าน ไม่มีนายจ้างสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้เข้ามาดูแลแรงงานกลุ่มนี้ โดยการเปิดให้สมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ให้การดูแลอย่างครบถ้วน โดยแนวทางเร่งด่วนคือ พยายามประชาสัมพันธ์ และเข้าถึงคนที่ทำงานอิสระ ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าสามารถสมัครมาตรา 40 ได้เพราะฉะนั้น การประชาสัมพันธ์ จึงเป็นเรื่องที่เราเร่งทำเพื่อสร้างความเข้าใจ
“เนื่องจากคนอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสมัครมาตรา 40 ได้ ดังนั้น ต่อไปเราจึงจะมุ่งนำเสนอให้ความรู้กับโรงเรียน ชุมชน เพราะยิ่งเข้ามาประกันตนเร็วเท่าไหร่ แน่นอนว่าประโยชน์เกิดกับตัวเขาและครอบครัว ทั้งนี้ อนาคตต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงตามบริบทของงานอย่างแน่นอน” รศ.จักษ์ กล่าว
สำหรับ มาตรา 40 ผู้ที่มีสิทธิสมัคร ได้แก่ ผู้ที่ทำอาชีพอิสระสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 0 หรือ 6 หรือ 7 ต้องไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ มาตรา 39 ไม่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ และไม่เป็นผู้พิการทางสติปัญญา
โดยสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ คือ เงินทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยสูงสุด 300 บาทต่อวัน รับเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เดือนละ 500-1,000 บาท รับเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมดอกผล รับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร 200 บาทต่อเดือน (ไม่เกิน 2 คน) และ รับเงินค่าทำศพกรณีตายสูงสุด 40,000 บาท