นโยบายน้ำมันปาล์ม “ยั่งยืน” กดดันแบรนด์ดังโลกเร่งปรับตัว

นโยบายน้ำมันปาล์ม “ยั่งยืน” กดดันแบรนด์ดังโลกเร่งปรับตัว

นโยบายน้ำมันปาล์ม “ยั่งยืน” กดดันบริษัทชั้นนำของโลกเร่งปรับตัวเพื่อผลักดันให้มีการใช้น้ำมันปาล์มเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

การผลักดันให้มีการใช้น้ำมันปาล์มเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ในยุคที่สภาพแวดล้อมทั่วโลกได้รับความเสียหายยับเยินและโลกร้อนทำให้เกิดหายนะภัยรูปแบบต่างๆ กำลังทำให้บริษัทผลิตอาหารแบรนด์ดังและผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคระดับโลก อย่างคิท แคท และโดฟ ถูกปรับเงินในฐานะที่ล้มเหลวในการใช้น้ำมันปาล์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ขานรับการเคลื่อนไหวนี้จาก“ราวด์เทเบิ้ล ออน ซัสเทนเอเบิล ปาล์ม ออยล์” (อาร์เอสพีโอ) กลุ่มเฝ้าระวังที่กำหนดมาตรฐานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและนำบรรดาผู้เล่นในอุตสาหกรรมมาร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้แต่ก็ถูกวิจารณ์ว่ากฏระเบียบที่นำมาใช้มีความเข้มงวดมากไป

น้ำมันพืช หรือน้ำมันปาล์ม ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแทบทุกอย่างตั้งแต่นำมาใช้ในการผลิตขนมปังกรอบ ไปจนถึงการผลิตเครื่องสำอาง แต่การใช้น้ำมันปาล์มในปริมาณมากแบบนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มองว่าการใช้น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันพืชทำให้เกิดการทำลายป่าในวงกว้าง

การตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะในประเทศที่ถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลกอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ ทำลายระบบนิเวศน์ในป่า รวมทั้งสัตว์หายาก อย่างอุรังอุตังที่ใกล้สูญพันธุ์ และช้างปิกมี่แห่งบอร์เนียว

แรงกดดันจากผู้บริโภคในชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้น ขณะที่บรรดานักเคลื่อนไหวเร่งโหมกระพือแคมเปญที่พุ่งเป้าประณามอุตสาหกรรมที่ทำลายป่า หรือสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การลดสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ หรือเลิกใช้โภคภัณฑ์ที่เกิดจากการตัดไม้ ทำลายป่าอย่างสิ้นเชิง

การรังเกียจเดียดฉันทน์ในเรื่องนี้ในหมู่สาธารณชน กลายเป็นประเด็นฮือฮาเมื่อปีที่แล้ว เมื่อผู้คนหลายล้านทั่วโลกได้ชมโฆษณาวันคริสต์มาสจากเครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษในไอซ์แลนด์ ซึ่งเลิกใช้น้ำมันปาล์มในผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของตัวเอง โดยโฆษณาดังกล่าวเป็นภาพการ์ตูนอุรังอุตังตัวหนึ่งบอกกับเด็กผู้หญิงตัวน้อยว่าบ้านของมันถูกทำลายจนหมดสิ้นแล้ว และผู้บริหารซูเปอร์มาร์เก็ตในไอซ์แลนด์ วิจารณ์ด้วยว่า การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนดำเนินไปอย่างเชื่องช้า

อาร์เอสพีโอ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงเกณฑ์สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกที่ต้องการให้ผลผลิตปาล์มของคนได้รับใบรับรองว่าเป็นปาล์มยั่งยืน ซึ่งเกณฑ์ที่ว่า ครอบคลุมถึงการห้ามตัดไม้เพื่อทำเป็นแหล่งปลูกปาล์ม และลดการใช้ไฟ ซึ่งบางครั้งไฟไหม้ในวงกว้างและควบคุมเพลิงไม่ได้ จนทำให้ควันไฟที่เป็นพิษต่อร่างกายปกคลุมทั่วท้องฟ้า ซึ่งเรื่องนี้ บรรดานักเคลื่อนไหววิจารณ์ว่าอาร์เอสพีโอ ล้มเหลวในการบังคับใช้กฏระเบียบ

การเข้าร่วมกับอาร์เอสพีโอ ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ เป็นการเข้าร่วมด้วยความสมัครใจและปัจจุบันดึงดูดคนกลุ่มต่างๆเข้ามาเป็นสมาชิกแล้วจำนวนกว่า 4,000 คน รวมถึง เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอุปโภค-บริโภค และบรรดาเทรดเดอร์ และทุกวันนี้ อาร์เอสพีโอได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มยั่งยืนแก่บริษัททั่วโลกไปแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19%

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าการผลักดันให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเริ่มแผ่วลง เนื่องจาก บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เนสท์เล่ และยูนิลีเวอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์แบรนด์“โดฟ”ยังสั่งซื้อน้ำมันปาล์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่ยังไม่มากพอ และไม่ได้สนับสนุนเกษตรกรให้ปลูกปาล์มประเภทนี้อย่างเต็มที่

เพื่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง กลุ่มเฝ้าระวังเรื่องนี้จะเรียกร้องให้บริษัทต่างๆสั่งซื้อน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนอย่างน้อย 15% เป็นประจำทุกปี หากไม่ทำตามข้อเรียกร้องนี้ จะถูกปรับเงิน หรือไม่ก็ถูกขับออกจากการเป็นภาคี

ในส่วนของเนสท์เล่ ซึ่งผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคมากมายหลายแบรนด์ รวมถึง ช็อคโกแล็ตสมาร์ตี้ และควอลิตี้ สตรีท ให้คำมั่นว่าจะใช้น้ำมันปาล์มเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม100% ภายในปี 2566 ซึ่งบรรดานักวิจารณ์มองว่าเป็นเป้าหมายที่ยาวนานเกินไป

ข้อมูลของอาร์เอสพีโอ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว การใช้น้ำมันปาล์มแบบยั่งยืนของเนสท์เล่ สูงถึง 56% ในยุโรป แต่ในจีน ซึ่งมีกระแสกดดันจากผู้บริโภคน้อยกว่าการใช้น้ำมันปาล์มแบบยั่งยืนอยู่ที่ศูนย์เปอร์เซนต์

ส่วนยูนิลีเวอร์ ซึ่งผลิตไอศครีมแบรนด์เบนแอนด์เจอร์รี ขานรับกฏใหม่ของกลุ่มเฝ้าระวัง พร้อมยืนยันว่า บริษัทมีนโยบายใช้น้ำมันปาล์มแบบยั่งยืนกับกระบวนการผลิตสินค้าทุกประเภท