การออมภาคครัวเรือนของไทย ...แนวโน้มและข้อจำกัด

การออมภาคครัวเรือนของไทย ...แนวโน้มและข้อจำกัด

การออมเรื่องสำคัญที่ควรตระหนักถึง แม้ไทยจะมีจำนวนครัวเรือนที่มีการออมสูงเกินกว่า 70% แต่ก็ยังติดข้อจำกัดอยู่หลายเรื่อง เช่น รายได้ที่ยังไม่สูงมากนัก ภาระหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง ฯลฯ

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 ..41 กำหนดให้วันที่ 31 ..ของทุกปี เป็น "วันออมแห่งชาติ" เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมที่จะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงการออมภาคครัวเรือน

ภาคการออมถือเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของประเทศ หากมีระดับการออมสูงและเพียงพอต่อความต้องการของการลงทุนของประเทศแล้ว การพึ่งพิงหรืออาศัยเงินทุนจากต่างประเทศก็จะลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมการออมของประเทศยังอยู่ในระดับสูง โดยมีสัดส่วนการออมต่อจีดีพีอยู่ที่ 34.8% แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงท่ามกลางการเผชิญกับหลายปัจจัย

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ผลการสำรวจครัวเรือนทั่วประเทศของไทย ปี 2561 พบว่า ครัวเรือนไทยมีประมาณ 21.6 ล้านครัวเรือน มีครัวเรือนที่มีการออมเงิน 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.7% และอีก 5.9 ล้านครัวเรือน หรือ 27.3% ไม่มีเงินออม อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบการออม พบว่าจำนวนครัวเรือนที่มีการออมในปี 2561 เพิ่มจากปี 2559 ราว 6.0% (ครัวเรือนมีการออม 66.7% ในปี 2559 และ 72.7% ในปี 2561) สะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนของครัวเรือนมีการเก็บออมเพิ่มขึ้น

แม้ว่าจำนวนครัวเรือนที่มีการออมจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีครัวเรือนไทยอีกจำนวนมากที่ยังคงมีความไม่แน่นอนในการจัดสรรเงินออม ซึ่งอาจเกิดจากความกังวลในหลายๆ ปัจจัย เช่น ปัญหาค่าครองชีพสูง หรืออาชีพที่ยังไม่มีความมั่นคงพอที่จะวางแผนการออม รวมทั้งภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง นับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลให้การออมภาคครัวเรือนลดลง ขณะเดียวกันภาวะการออมยังขึ้นอยู่กับผลทางด้านรายได้ ซึ่งเป็นผลมาจากทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจด้วย

"ประชาชนจำนวนมากอาจยังไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเกษียณ สวนทางกับแนวโน้มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว"

อย่างไรก็ดีเงินออมภาคครัวเรือนอาจไม่ได้อยู่ในรูปเงินฝากเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในรูปของเงินลงทุนด้วย ข้อมูลจากสมาคมบริษัท จัดการลงทุน ระบุว่า การออมและการลงทุนของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน มียอดรวมทั้งสิ้น 20.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

  • การฝากเงิน 38.0%
  • การออมผ่านกองทุนรวม 24.9%
  • เงินสำรองประกันภัย 13.4%
  • กองทุนส่วนบุคคล 4.6%
  • การออมเงินผ่านกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสารองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) มีสัดส่วนรวม 19.2%

ทั้งนี้ เงินฝากของภาคครัวเรือนมีมูลค่า 7.8 ล้านล้านบาท ณ มิ.ย.62 สัดส่วน 38.0% ของขนาดการออมและการลงทุนทั้งหมด โดยสัดส่วนดังกล่าวได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาคครัวเรือน ได้มีการจัดสรรเงินออมในรูปแบบต่างๆ ดังกล่าว นอกเหนือไปจากการฝากเงินผ่านสถาบันการเงินนั่นเอง

สำหรับแนวโน้มการออมภาคครัวเรือนในระยะถัดไป คาดว่ามีหลายปัจจัยที่อาจเข้ามากระทบต่อระดับการออม อาทิ การเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega-projects) ที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องมีความพร้อมด้านเงินออมมากขึ้น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ (aging society) ทำให้จำเป็นต้องใช้งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมจำนวนมาก เพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ความต้องการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อชดเชย "แรงงานที่อาจหายไปจากระบบ ทำให้การออมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทวีความสำคัญขึ้นในอนาคต เพื่อนำเงินออมไปลงทุน ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่อาจเร่งให้ใช้จ่ายหรือสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ยังต้องเผชิญข้อจำกัดการออม อาทิ ประชาชนจำนวนมากอาจยังไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อการเกษียณสวนทางกับแนวโน้มผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจำนวนเงินกู้และจำนวนผู้กู้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยเริ่มทำงานที่เป็นหนี้เร็วขึ้นย่อมทำให้การขาดการออมหรือไม่มีเงินออม ตลอดจนทิศทางเศรษฐกิจและระดับราคาสินค้าเกษตร ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีระดับรายได้ไม่สูงนัก

ซึ่งทุกภาคส่วนควรร่วมกันส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออม เล็งเห็นความสำคัญด้านการออมในทุกมิติ ทั้งการให้ความรู้ทางการเงิน การวางแผนทางการเงิน และการเข้าถึงบริการทางการเงิน