บจ.ไทย'คะแนนซีจี'พุ่งทุบสถิติ ลุ้นต่างชาติเข้าลงทุน

บจ.ไทย'คะแนนซีจี'พุ่งทุบสถิติ ลุ้นต่างชาติเข้าลงทุน

"ไอโอดี" เผยบริษัทจดทะเบียนไทย ทำ “คะแนนซีจี”สูงสุดเป็นประวัติการณ์  เฉลี่ยได้ 82 % ผลจากการให้สำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น  แย้มปี 65 เตรียมปรับเกณฑ์ประเมินใหม่  ด้านตลาดหลักทรัพย์แนะบจ.ให้ความสำคัญ "อีเอสจี"หวังดึงเงินต่างชาติเข้ามาลงทุน

นายประสัณห์ เชื้อพานิช ประธานกรรมการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือไอโอี  (IOD) เปิดเผยว่า ผลสำรวจคะแนน CGR ขอบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ประจำปี 2562 จำนวน 677 บริษัท มีคะแนนเฉลี่ยที่ 82 % สูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มทำการประเมินในปี 2544 และเพิ่มขึ้น 1 % จากปี 2561 ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 81 % (ประเมิน657 บริษัท) สะท้อนว่าบจ.ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น  

โดยมีบจ.ที่ได้คะแนน CGR 5 ดาวมากขึ้น เป็น 193 บริษัท จากปีก่อนอยู่ที่ 142 บริษัท และ บจ.ที่ได้ 4 ดาว เพิ่มขึ้นเป็น 258 บริษัท จากปีก่อนที่ 242 บริษัท ขณะที่บจ.ที่ได้คะแนน 2 ดาวปรับตัวลดลง เหลือ 89 บริษัท จากปีก่อนที่มีจำนวน 95 บริษัท เพราะมีการปรับปรุงทำให้ได้คะแนนขยับไปที่ 3 ดาวและ 4 ดาวมากขึ้น

     ทั้งนี้ หากพิจารณาคะแนนรายหมวด พบว่า หมวดที่ได้รับคะแนนเฉลี่ยตั้งแต่ 80% ขึ้นไปมี 4 หมวด คือ หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้นมีคะแนน 94%, การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันมีคะแนน 92%, การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสมีคะแนน 86% และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย มีคะแนน 81% ส่วนหมวดความรับผิดชอบคณะกรรมการ ยังมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 75% แต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าทุกหมวด ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี

 นายกุลเวช เจนวัฒนวิทย์ กรรมการผู้อำนวยการ ไอโอดี เปิดเผยว่า ไอโอดีมีแผนปรับปรุงวิธีการประเมิน CGR ใหม่ หล้งจากที่ไม่ได้ทบทวนมานานถึง 6 ปี  เน้น ใน 3 ด้าน คือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ทันสมัย ครอบคลุมถึงประเด็น ESG และลดความซ้ำซ้อนกับการประเมินจากองค์กรอื่นๆ ขณะที่การประเมิน CGR จะใช้ตัวชี้วัดที่ทำให้สามารถระบุประเด็นที่ บจ.ต้องปรับปรุงอย่างชัดเจน และจะประกาศรายชื่อบจ.ที่ได้ผลประเมินตั้งแต่ระดับดี พอใช้ คือ 2 ดาว จากที่ผ่านมาจะประกาศแต่บจ.ที่ได้คะแนน 3 ดาวขึ้น ไป เพราะต้องการกระตุ้นให้บจ.มีการพัฒนาคะแนนCG ให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เกณฑ์ประเมินใหม่ดังกล่าวจะใช้ในปี 2565 เพื่อให้เวลาบจ.มีการทำความเข้าใจรายละเอียดแนวทางการประเมิน CG โดยทางไอโอดีจะมีการจัดกิจกรรมสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับ บจ. ตลอดในช่วงปี 2563-2564 ส่วนการประเมิน CG ในช่วง2 ปีดังกล่าว ยังคงใช้เกณฑ์เดิมไปก่อน

นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในหุ้นที่มี  ESG จำนวน 23 กองทุน มูลค่า สินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร ( AUM) จำนวน 3 หมื่นล้านบาท และ มีกองทุนทั่วโลกที่มีการลงทุนในหุ้นที่ ESG  จำนวนมาก โดยมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร ( AUM) ถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์  ซึ่งบจ.ไทยควรจะมีการพัฒนาในเรื่อง  EGS เพื่อที่จะดึงดูดเม็ดเงินดังกล่าวให้เข้ามาลงทุน