'ไทย' ติดกลุ่มระบบบำนาญแย่สุดในโลก

'ไทย' ติดกลุ่มระบบบำนาญแย่สุดในโลก

ดัชนีบำนาญโลกของบลูมเบิร์ก จัดอันดับให้ "เนเธอร์แลนด์" เป็นประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลก ส่วน "ไทย" ติดกลุ่มประเทศที่มีระบบบำนาญอ่อนแอและขาดความชัดเจนมากที่สุดในบรรดา 37 ประเทศ

เว็บไซต์บลูมเบิร์ก เผยแพร่รายงาน “ดัชนีบำนาญโลกเมลเบิร์น เมอร์เซอร์ 2562” ซึ่งศึกษาความพร้อมของระบบบำเหน็จบำนาญใน 37 ประเทศทั่วโลก ผ่านการประเมินด้วยเกณฑ์ต่างๆ กว่า 40 เกณฑ์ อาทิ สิทธิประโยชน์ของวัยทำงาน การเก็บออม ความเป็นเจ้าของบ้าน การเติบโตของสินทรัพย์ สินทรัพย์รวม ความครอบคลุมของระบบบำเหน็จบำนาญ ประชากรศาสตร์ การเติบโตของเศรษฐกิจ

รายงานชิ้นนี้ จัดให้เนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีระบบรายได้รองรับการเกษียณอายุของพลเมืองดีที่สุดในโลก ทั้งแง่ของคุณภาพและความยั่งยืน ตามมาด้วย ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา และชิลี

ทั้งนี้ หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสู่วัย จึงเป็นความท้าทายและเป็นแรงกดดันในการจัดสรรทรัพยากร เพื่อดูแลสุขภาพและสวัสดิการแก่กลุ่มผู้สูงวัยและกลุ่มคนวัยเกษียณ ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2613 โลกจะมีประชากรถึง 1 ใน 5 ที่อยู่ในวันเกษียณ

อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้จัดให้ประเทศไทยมีอันดับอยู่รั้งท้ายตาราง ถูกจัดในเกรด D ได้รับคะแนนภาครวม 39.4 คะแนน โดยพบว่า แม้ไทยจะมีระบบเงินบำเหน็จประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตน มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างสามารถเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจ รวมถึงมีผลิตภัณฑ์เพื่อการออมอื่น ๆ เช่น ประกันชีวิต รวมถึงกองทุนอาร์เอ็มเอฟ แต่ผู้จัดทำดัชนีชี้วัดชิ้นนี้แนะนำให้ไทยเพิ่มระบบบำนาญที่มีความครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มการสนับสนุนผู้สูงวัยที่มีรายได้น้อย และให้คำแนะนำเรื่องเกณฑ์ขั้นต่ำ ในการเก็บออมเงินเพื่อการเกษียณอายุ

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยจ่ายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุให้กับคนอายุ 60-69 ปี เดือนละ 600 บาท อายุ 70-79 ปี เดือนละ 700 บาท อายุ 80-89 ปี เดือนละ 800 บาท อายุ 90 ปีขึ้นไป เดือนละ 1,000 บาท และให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน

ส่วนคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมจะได้รับเงินบำนาญชราภาพ สูงสุดที่เดือนละ 6,375 บาท แต่เมื่อรวมเงินสนับสนุนทั้งหมดแล้วก็อาจยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ถ้าไม่ได้เก็บออมเงินเพื่อการเกษียณของตนเองด้วย

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเมินว่า คนไทยควรมีเงินออมเพื่อการเกษียณขั้นต่ำ 4 ล้านบาท จึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตเมื่อไม่ทำงาน แต่ทุกวันนี้ คนไทยวัยเกษียณกว่า 60% มีเงินเก็บไม่ถึง 1 ล้านบาท และผู้สูงอายุเกือบ 1 ใน 3 ยังต้องทำงาน เพื่อหาเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

รายงานฉบับนี้ ให้รายละเอียดว่า เนเธอร์แลนด์ มีมูลค่าดัชนีสูงสุดที่ 81.0 และครองอันดับต้นๆอย่างต่อเนื่องถึง 10 ปี จากข้อมูล 11 ปี นับตั้งแต่ที่มีการรายงานดัชนีบำนาญนี้ ขณะที่ ประเทศไทย เพิ่งสำรวจดังชีบำนาญเป็นปีแรก และมีมูลค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำที่ 39.4

ส่วนค่าดัชนีย่อย ไอร์แลนด์ ได้ค่าความเพียงพอสูงสุดอยู่ที่ 81.5 เดนมาร์ก ได้ค่าความยั่งยืนสูงสุดที่ 82.0 ในขณะที่ ฟินแลนด์ ได้ค่าความน่าเชื่อถือสูงสุดที่ 92.3 และสำหรับค่าดัชนีย่อยต่ำสุดประเทศไทย ได้รับค่าความเพียงพอต่ำสุดอยู่ที่ 35.8 อิตาลี ได้รับค่าความยั่งยืนต่ำสุด 19.0 และ ฟิลิปปินส์ ได้ค่าความน่าเชื่อถือต่ำสุดอยู่ที่ 34.7

รายงานจัดอันดับฉบับนี้ ถือเป็นการสำรวจในระดับนานาประเทศฉบับแรก ที่รวบรวมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากความมั่งคั่ง เช่น แนวโน้มในการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นตามระดับความมั่งคั่งที่เกี่ยวเนื่องกับสินทรัพย์บำนาญ โดยข้อมูลจากรายงานบ่งชี้ว่า เมื่อสินทรัพย์บำนาญเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ปัจเจกบุคคลมีความรู้สึกมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น และยังส่งผลต่อแนวโน้มในการกู้ยืมที่มากขึ้นอีกด้วย