ม.หอการค้าฯ ต่อยอด “ไฮสโคป” สู่ “สาธิต –ผลิตครู” ปฐมวัย

ม.หอการค้าฯ ต่อยอด “ไฮสโคป” สู่ “สาธิต –ผลิตครู” ปฐมวัย

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต่อยอด ไฮสโคป (HighScope) เปิดสาธิตปฐมวัยฯ เน้นการพัฒนาโดยใช้กระบวนการวางแผน ลงมือทำ และทบทวน เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจ ผ่านกิจกรรมหลากหลาย พร้อมเปิดคณะการศึกษาปฐมวัย สร้างครูคุณภาพ

57 ปีก่อน Dr.David Weikart ทำโครงการ Perry Preschool  ในเมือง Ypsilanti, Michigan, USA  ใช้ไฮสโคป (HighScope) ช่วยเหลือเด็กที่มีภาวะเสี่ยงจะลาออกจากโรงเรียนกลางคัน เน้นการพัฒนาโดยใช้กระบวนการวางแผน ลงมือทำ และทบทวน เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจ ผ่านกิจกรรมหลากหลาย ติดตามผล 40 ปีถัดมาพบว่าชีวิตของกลุ่มตัวอย่าง 123 คน ส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาในระดับสูงขึ้น มีงานที่มั่นคง มีรายได้และค่าตอบแทนที่แน่นอน มีบ้านเป็นของตนเอง และมีอัตราการถูกจับกุม ก่ออาชญากรรมน้อยกว่า

 

ขณะที่ 9 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยดังกล่าว ถูกยกขึ้นมาศึกษาอีกครั้งโดย James. J. Heckman นักเศรษฐศาสตร์ จาก University of Chicaco โดยวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า การใช้ไฮสโคป มีอัตราผลประโยชน์ตอบแทนประมาณ 7-12 เท่า ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น

157175560232

นักเศรษฐศาสตร์ของไทยอย่าง รศ.ดร.วีระชาติ  กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าการนำวิธีการสอนดังกล่าวมาใช้จะช่วยให้ประเทศชาติได้รับผลตอบแทนมหาศาล จึงเกิดเป็น โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ ไรซ์ไทยแลนด์ (RISE Curriculum) ที่พัฒนาจากหลักสูตรไฮสโคป มาปรับใช้ในบริบทของไทย ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน จ.มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ กว่า 50 ศูนย์นำไปใช้ตั้งแต่ปี 2558 โดยปัจจุบันหลักสูตรไฮสโคปถูกนำไปใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 80 แห่ง

รศ.ดร. วีระชาติ  ผู้บุกเบิกไฮสโคปในประเทศไทย กล่าวในงาน Open House สาธิตปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า จากการวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับการพัฒนาการสอนระดับปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยใช้หลักสูตรไฮสโคป แล้วได้ผลตอบรับทีดี่จากคุณครู ผู้ปกครอง และพัฒนาการของเด็กที่ดีขึ้นจึงมีการจัดตั้ง “สาธิตปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” เพื่อเป็นสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ

สาธิตปฐมวัยฯ ไฮสโคป

ทั้งนี้สาธิตปฐมวัยฯ เปิดทำการเรียนการสอนรุ่นแรกในเดือนพฤษภาคม 2562 ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล - อนุบาล 3 ผ่านกระบวนการไฮสโคป โดยจะรับเด็กไม่เกินห้องละ 25 คน เพื่อสร้างมาตรฐานให้เด็กไม่ล้นห้อง ครูปฐมวัยเตรียมอนุบาล – อนุบาล 1 จำนวน 3-4 คนต่อห้อง และอนุบาล 2 – 3 จำนวน 2 คนต่อห้อง

ปิยาภรณ์ กังสดาร ผู้อำนวยการสาธิตปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  อธิบายว่าจัดการเรียนการสอนว่า สาธิตปฐมวัยฯ ใช้การเรียนการสอนโดยยึดหลัก “วงล้อแห่งการเรียนรู้” (Wheel of Learning) ประกอบด้วย “องค์ประกอบของการจัดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติอย่างมีชีวิตชีวา” คือ ให้เด็กเลือกทำในสิ่งที่สนใจ (Choice) ให้เล่นกับสื่อ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ (Materials) ให้เด็กใช้ประสาทสัมผัสในการจัดกระทำ (Manipulation) ให้เด็กสื่อสารและแสดงความคิด (Child Language and Thought) และให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ (Adult Scaffolding)

157175560491

“ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์เชิงบวกในทุกกิจกรรม” เพราะการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเด็ก มีคุณค่ามากกว่าการยกย่อง ชมเชยและให้รางวัล โดยการให้เด็กมีบทบาทในการเล่น รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับบุคคล สำคัญและจำเป็นมากกว่าจอทีวี โทรศัพท์มือถือ หรือแบบฝึกหัด ถัดมาคือ “สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้” โดยการจัดห้องเรียนเป็น 5 มุมการเรียนรู้ ได้แก่ บ้าน ภาษา ศิลปะ บล็อกไม้ตัวต่อ วิทยาศาสตร์ เพื่อให้เด็กได้เล่นและเรียนรู้ด้วยตัวเอง

“กิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ” ได้แก่ 1.กิจกรรมเช้าวันใหม่ 2. กิจกรรมกลุ่มใหญ่ เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคม 3. กิจกรรมการวางแผนปฏิบัติ ทบทวน เพื่อให้เด็กพัฒนาทักษะการคิดที่เป็นระบบ 4. กิจกรรมกลุ่มย่อย 3-5 คน เพื่อให้ครูได้สังเกตเด็กได้ทุกคนอย่างชัดเจน 5. กิจกรรมเล่นสนุกนอกห้องเรียน ให้เด็กพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และกลไกการควบคุมร่างกาย 6.กิจกรรมสดชื่นหลังตื่นนอน เด็กสนทนาทบทวนการเรียน ร้องเพลง ฟังนิทาน เล่มเกม

สุดท้ายคือ “การประเมิน” ครูจะสังเกตทั้งกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย และการทำกิจกรรมทั่วไป จดบันทึกขณะที่เด็กลงมือทำ ให้ผู้ปกครองทุกสัปดาห์ และนำไปเทียบกับ KPI ซึ่งกำลังพัฒนากระบวนการอยู่

157175560545

“พฤติกรรมของเด็กหลังจากเรียนที่โรงเรียนสาธิตปฐมวัย พบว่า เด็กมีพฤติกรรมไปในเชิงบวก เล่นแล้วเก็บของเล่น มีความรับผิดชอบ รู้หน้าที่ของตัวเอง กล้าพูด กล้าแสดงออก ยอมรับและปฏิบัติตามข้อตกลงได้ อารมณ์ดี ร่าเริง แจ่มใส และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เราเชื่อว่าการเล่นเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก” ผอ.สาธิตปฐมวัยฯ กล่าว

สร้างครูปฐมวัย ไฮสโคป

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้จัดตั้ง “คณะการศึกษาปฐมวัย” (School of Early Childhood Education) เพื่อเปิดสอนหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้การสอนตามแนวหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ผ่านการปฏิบัติจริงในโรงเรียนสาธิตปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถานศึกษาในเครือข่ายโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (ไรซ์ไทยแลนด์) อีกทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ (English) เพื่อสร้างบัณฑิตสาขาการศึกษาปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพออกสู่ตลาดแรงงาน

157175560111

รศ.ดร.วีระชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นทั้งหมด เกิดจากการอ่านงานวิจัย นำมาปรับใช้ในบริบทของไทย ทำงานวิจัยลงพื้นที่และเห็นผลจริง จึงคิดว่าต้องมีคณะการศึกษาปฐมวัย ซึ่งปัจจุบันเปิดรับนักศึกษารุ่นแรก 35 คน โดยจำกัดอยู่ที่ไม่เกิน 60 คน จุดเด่นของนักศึกษาคณะการศึกษาปฐมวัย คือ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านไฮสโคป หากโรงเรียนใดที่ต้องการการสอนแบบนี้ ต้องสามารถสอนได้เลย จบปี 4 แล้วจะต้องทำเป็น เพราะปัญหาส่วนใหญ่จบไปจะเคว้งคว้างอยู่พักใหญ่ ดังนั้น เราจึงต้องการให้เด็กนักศึกษาเรามีความพร้อม

“นักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติทั้งในสาธิตปฐมวัยฯ และศูนย์บ้านเด็กเล็กตามต่างจังหวัด ให้มีความรู้ ได้รู้ปัญหาจริง และอยู่ร่วมกับสังคมได้ ขณะเดียวกัน เราก็หวังว่านักศึกษาจะได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสอนแบบไฮสโคปได้เก่ง และที่สำคัญ คือ ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานเพื่อสังคม เพื่อให้คุ้มค่าในการเป็นครูที่ดีในอนาคต” คณบดี กล่าวทิ้งท้าย