เรียนรู้เพื่อนบ้านผ่าน 'วรรณกรรมเพื่ออาเซียน'

เรียนรู้เพื่อนบ้านผ่าน 'วรรณกรรมเพื่ออาเซียน'

คนไทยยังไม่ตอบรับวรรณกรรมอาเซียนมากเท่าที่ควร มีคนสนใจอยู่เพียงกลุ่มเดียว แต่เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนก็เริ่มมีคนหันมาสนใจประเทศเพื่อนบ้าน การอ่านวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านทำให้เราได้เรียนรู้ประเทศนั้นๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่ได้มีแต่รัฐบาลเท่านั้นที่ทำหน้าที่นี้ได้ ประชาชนกับประชาชนสามารถสื่อสารถึงกันโดยมีวรรณกรรมเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพ และเนื่องในโอกาสงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 กรุงเทพธุรกิจได้คุยกับ อาจารีย์ สุทธิโรจน์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ถึงโครงการ “วรรณกรรมเพื่ออาเซียน” ผลงานของ “ประภัสสร เสวิกุล” ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ที่แม้หนังสือจะจัดพิมพ์ขึ้นตั้งแต่หลายปีก่อน แต่วันนี้ยังทำหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเพื่อนบ้านอาเซียนได้เป็นอย่างดี

อาจารีย์เล่าว่า หนังสือชุดนี้ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของ“ประภัสสร เสวิกุล” จุดเด่นอยู่ที่มีฉากหลังเป็นประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน จากการที่ประภัสสรเป็นนักการทูต เดินทางบ่อย มีข้อมูลเกี่ยวกับต่างประเทศนำมาใช้ในหนังสือที่เขียน

หนังสือชุดวรรณกรรมเพื่ออาเซียน มี 6 เล่ม ได้แก่ จะฝันถึงเธอทุกคนที่มีแสงดาว (อินโดนีเซีย) รักในม่านฝน (เวียดนาม) มีเมฆบ้างเป็นบางวัน(ฟิลิปปินส์) กริชมะละกา (มาเลเซีย) ไชน่ามูน (สิงคโปร์) เห่ ชะเลรุ้ง (กัมพูชา)

“หนังสือชุดนี้ทุกเล่มที่อ่านทำให้อยากไปเที่ยวประเทศนั้นๆ มาก เพราะนอกเหนือจากความสนุกยังได้ทั้งความรู้และประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีในตำราเรียน เช่น “มีเมฆบ้างเป็นบางวัน” พูดถึงผับที่นางเอกไปร้องเพลงแล้วไปพบกับพระเอก ก็อยากรู้ว่าคาเฟ่นี้มีจริงมั้ย อยากไปฟิลิปปินส์ ส่วนเล่ม “รักในม่านฝน” ที่พูดถึงเวียดนาม มีฉากที่พูดถึงอาหารเวียดนาม อ่านแล้วอยากกินมาก โดยเฉพาะก๊าจ๋า ปลาหมักเครื่องเทศ” บรรณาธิการเล่าถึงความรู้สึกต่ออาเซียนหลังจากที่ได้อ่านจบ

สำหรับยอดพิมพ์แต่ละเล่มเฉลี่ย 3,000 เล่ม บรรณาธิการบอกว่าที่ขายดีมากคือ “จะฝันถึงเธอทุกคืนที่มีแสงดาว” ทั้งหมดนี้ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านได้รับรู้ความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน จึงนำมาเขียนในรูปนวนิยายเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ ไม่เป็นข้อมูลล้วนๆ เหมือนตำราเรียน เป็นการนำข้อมูลวิชาการมาย่อยแล้วแทรกเข้าไปในวรรณกรรม ผู้อ่านไม่รู้ตัวว่าได้รับรู้ข้อมูลวิชาการไปแล้ว

ส่วนวรรณกรรมของประเทศอาเซียนอื่นๆ อาจารีย์เผยว่า นานมีบุ๊คส์จัดพิมพ์หนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์ เช่น “ซิ่นไหมผืนเก่าๆ” รวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ประจำปี 2551 ของลาว “สายเลือดเดียวกัน” นวนิยายรางวัลซีไรต์ประจำปี 2555 ของลาว “ถึงแก่น เรืื่องเล่าจากโรงพยาบาล” เรื่องสั้นจากฟิลิปปินส์ “ขอตั๋วหนึ่งใบกลับไปสู่วัยเด็ก” นวนิยายจากเวียดนาม

ในฐานะสำนักพิมพ์เธอมองว่า คนไทยยังไม่ตอบรับวรรณกรรมอาเซียนมากเท่าที่ควร มีคนสนใจอยู่เพียงกลุ่มเดียว แต่เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนก็เริ่มมีคนหันมาสนใจประเทศเพื่อนบ้าน การอ่านวรรณกรรมของประเทศเพื่อนบ้านทำให้เราได้เรียนรู้ประเทศนั้นๆ

“อ่านแล้วอยากรู้อยากเห็น อยากไปที่นั่น การอ่านทำให้มีแบ็กกราวด์ล่วงหน้าว่าประเทศเขาเป็นแบบนี้ มีวัฒนธรรมแบบนี้ จึงรู้ว่าควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไร”

ส่วนลักษณะร่วมของประเทศเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สังเกตได้จากหนังสือชุด “วรรณกรรมเพื่ออาเซียน” อาจารีย์มองว่า ประวัติศาสตร์ทุกประเทศมีการต่อสู้ ยกเว้นไทยที่เป็นเอกราชมาตลอด ขณะที่วัฒนธรรมอื่นๆ ก็ใกล้เคียงกัน

แผนการตลาดต่อจากนี้ บรรณาธิการบริหารเผยว่า นานมีบุ๊คส์จะเน้นเรื่องวรรณกรรมเยาวชน นิทานสำหรับเด็ก ตลาดหนังสือโดยรวมค่อนข้างเป็นขาลง แต่ที่ค่อนข้างดีคือนิทาน หนังสือเด็ก วรรณกรรมสำหรับเด็ก ยังไปได้ดี

“ต้องยอมรับว่าพ่อแม่สมัยนี้มีลูกคนแรกตอนอายุ 30 อัพ เพราะคนไทยแต่งงานช้าลง เมื่อมีลูกก็ให้ความสำคัญกับลูก พ่อแม่อายุ 30 อัพมีความมั่นคงแล้วประมาณนึง มีเงินใช้จ่ายให้ลูกมากขึ้น ยิ่งมีลูกคนแรกในวัยนี้ยิ่งดูแลลูกอย่างดี พยายามให้ลูกได้ในสิ่งที่ดีที่สุด จึงซื้อหนังสือให้ลูกมากขึ้น แถมเดี๋ยวนี้พ่อแม่ไม่ได้ซื้อเฉพาะหนังสือภาษาไทยเท่านั้น ซื้อภาษาอังกฤษด้วย อย่างหนังสือ 2 ภาษา 3 ภาษา เพื่อให้ลูกได้รู้มากกว่าคนอื่น”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เด็กเล็กๆ อาจสอนให้อ่านหนังสือได้ แต่พอโตขึ้นระยะหนึ่งก็ไปหาสมาร์ทโฟน ในฐานะสำนักพิมพ์จะรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ไว้อย่างไร สำหรับนานมีบุ๊คส์ทำหนังสือเด็กอินเตอร์แอคทีฟแบบ Unplugged ไม่ต้องใช้สมาร์ทโฟน หนังสือสามารถเล่นหรือพูดคุยกับเด็กได้ โดยพ่อแม่เล่าให้ฟังหรือเด็กเล่นเองก็ได้ ซึ่งหนังสือประเภทนี้จะช่วยให้เด็กสนใจการอ่านมากขึ้น หรืออ่านหนังสือที่ยากขึ้นไปในในอนาคตได้

“เราคงห้ามไม่ให้เขาใช้สมาร์ทโฟนไม่ได้ แต่เราก็มีหนังสือที่มาดึงดูดความสนใจเขามากขึ้น”

ขณะที่นักอ่านวัยรุ่น นานมีบุ๊คส์ใช้ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” เป็นตัวนำทัพ ปีหน้าจะครบรอบ 20 ปีแฮร์รี พอตเตอร์ นานมีบุ๊คส์มีโครงการเปลี่ยนปกใหม่ ฝีมือของ ศิลปินไทยทั้ง 7 ปก ได้รับอนุญาตจากเจ เค โรว์ลิงแล้ว โดย Apolar นักวาดชาวไทยจะมาพบนักอ่านในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 ที่เมืองทองธานี วันที่ 12 ต.ค.นี้