‘ภาษี’ กวนใจ ‘ชาวอเมริกันโดยบังเอิญ’

‘ภาษี’ กวนใจ  ‘ชาวอเมริกันโดยบังเอิญ’

กลุ่มตัวแทนผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน-ฝรั่งเศส ยื่นฟ้องรัฐบาลปารีสต่อคณะกรรมาธิการยุโรป หวังเลี่ยงกฎหมายภาษีของสหรัฐที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาจะต้องติดแบล็กลิสต์ธนาคารฝรั่งเศสตั้งแต่ เดือน ม.ค.63 เป็นต้นไป

สมาคม “อเมริกันโดยบังเอิญ” (เอเอเอ) ต่อสู้มานานหลายปีแล้ว ให้ได้รับการยกเว้นจากข้อเรียกร้องของสหรัฐ ที่ต้องการให้พลเมืองอเมริกันในต่างแดนทุกคนยื่นรายละเอียดธนาคารพร้อมกับการยื่นภาษีประจำปี

สมาคมฯเผยว่า ชาวฝรั่งเศสและชาวต่างชาติอื่นๆ หลายพันคนต้องเป็นชาวอเมริกัน เพียงเพราะพวกเขาเกิดในสหรัฐ แม้ว่าพวกเขาอาจใช้ชีวิตในสหรัฐเพียงไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปีเมื่อยังเด็กเท่านั้น

คนเหล่านี้อยากพ้นจากพันธนาการข้อกำหนดให้ต้องยื่นข้อมูลประจำปีกับสรรพากรสหรัฐ และธนาคารที่ไปเปิดบัญชีไว้ก็ไม่ต้องถูกบีบให้ต้องส่งมอบข้อมูลให้กับสรรพากรเช่นกัน

กฎหมายตัวนี้เรียกว่ากฎหมายภาษีที่ต้องปฏิบัติตามในต่างประเทศ (เอฟเอทีซีเอ) ร่างขึ้นเพื่อจัดการกับการหลบเลี่ยงภาษีในต่างประเทศ เมื่อปี 2560 รัฐบาลวอชิงตันยอมระงับใช้บางส่วน แต่ข้อยกเว้นจะจบลงในสิ้นปีนี้ สมาพันธ์ธนาคารฝรั่งเศส (เอฟบีเอฟ) แจ้งว่า เดือน ม.ค.2563 อาจต้องปิดบัญชีธนาคาร 40,000 บัญชี หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายยื่นข้อมูลบัญชี และธนาคารก็ต้องโดนลงโทษเช่นกัน

เอเอเอมองว่า ข้อตกลงที่สหรัฐทำกับฝรั่งเศสเมื่อปี 2556 อนุญาตให้บังคับใช้กฎหมายเอฟเอทีซีเอในฝรั่งเศส ฝ่าฝืนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของสหภาพยุโรป (อียู) โดยให้สิทธิการจัดส่งและเก็บข้อมูลส่วนตัวปริมาณมหาศาลในสหรัฐ ส่งผลให้ชาวฝรั่งเศสที่มีสัญชาติอเมริกันด้วย ต้องถูกเลือกปฏิบัติโดยพฤตินัย ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ไม่เคยมีสายสัมพันธ์กับสหรัฐเลย

สมาคมเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) มีเวลา 1 ปี ตัดสินใจจะดำเนินการกับรัฐบาลปารีสในเรื่องนี้หรือไม่

ทั้งนี้ ทั่วประเทศฝรั่งเศส มีชาวอเมริกันโดยบังเอิญกว่า 780 คน ทั้งหมดเหมือนกันตรงที่เป็นพลเมืองอเมริกัน บางคนคลอดในโรงพยาบาลสหรัฐแล้วออกจากประเทศนั้นมาขณะอายุได้เพียงไม่กี่วัน บางคนไม่ทราบเสียด้วยซ้ำว่าในทางเทคนิคพวกตนคือชาวอเมริกัน บางคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้

เคยมีคนประเมินว่าแท้จริงแล้วในฝรั่งเศสมีชาวอเมริกันแบบนี้มากถึง 10,000 คน หลายพันคนที่ยังไม่รู้ว่าพวกตนคือคนอเมริกัน ถ้านับทั่วยุโรปก็มีมากถึง 3 แสนคน แม้การสละสัญชาติจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำได้ แต่กระบวนการก็ยาวนานและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

เว็บไซต์เดอะโลคอลของฝรั่งเศสรายงานเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เอเอเอ ก่อตั้งขึ้นในเดือน พ.ย.2557 ตอนนั้นฟาเบียง เลอฮาร์จ ผู้จัดการฝ่ายขายรายหนึ่งในกรุงปารีส ได้รับจดหมายจากธนาคารขอทราบเลขประจำตัวผู้เสียภาษีสหรัฐ เลอฮาร์จเกิดในสหรัฐเมื่อปี 2527 แต่มาอยู่ฝรั่งเศสด้วยวัยเพียง 2 ขวบกับบิดาชาวฝรั่งเศส และไม่เคยกลับไปอยู่สหรัฐอีกเลยนับตั้งแต่นั้น เขาจึงไม่ทราบว่าตนเองเป็นผู้เสียภาษีชาวอเมริกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทีแรกเลอฮาร์จคิดว่าเป็นความผิดพลาด แต่ต่อมารู้ว่า ตนได้สัญชาติอเมริกันเพราะการเกิด จึงต้องรายงานรายได้ทั้งหมดให้สรรพากรสหรัฐทราบ เลอฮาร์จจึงตัดสินใจสู้กับหลักการการเก็บภาษีจากฐานความเป็นพลเมือง ซึ่งบังคับใช้เฉพาะในสหรัฐกับเอริเทรีย ต่อมาในเดือน ส.ค.2558 เขาจึงตั้งสมาคมชาวอเมริกันโดยบังเอิญขึ้นมา

เอเอเอพยายามหาเสียงสนับสนุนทางการเมือง สำหรับการรณรงค์ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน ประธานาธิบดีเอ็มานูเอล มาครง ก็มีท่าทีสนับสนุนความพยายามของเอเอเอ ที่ไม่ต้องการยื่นข้อมูลภาษีให้สหรัฐ

เดือน ก.ค.2561 มาครงทำหนังสือแจ้งต่อประธานพรรคลา รีพุบลิก ออง มาร์ช ในสภาว่า ทราบเรื่องแล้ว ซึ่งทางฝรั่งเศสได้ส่งตัวแทนไปสหรัฐในเดือน พ.ค.2561 เพื่อแก้ไขปัญหา

“การเจรจาดำเนินไป และเชื่อเถอะ ผมยังสนใจเรื่องนี้” มาครงสรุปในหนังสือ ซึ่งถูกส่งต่อมาให้เลอฮาร์จ แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า มาครงทำตามอย่างที่รับปากโดยการยกเรื่องนี้มาหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หรือไม่