“พริม - พริมา เพชราภิรัชต์” ค้นหาตัวตนที่ใช่ งานที่ชอบ กับ “We Space”

“พริม - พริมา เพชราภิรัชต์” ค้นหาตัวตนที่ใช่ งานที่ชอบ กับ “We Space”

มาทำความรู้จัก We Space แพลตฟอร์มที่ให้เด็กค้นหาตัวตนที่ใช้ งานที่ชอบ ตอบโจทย์ศักยภาพและความฝัน กับ พริม - พริมา เพชราภิรัชต์ Co-founder และ CFO วัย 26 ปี ที่ครั้งหนึ่งเคย “คิดว่า” คนเก่งต้องเป็นหมอ จนกระทั่งได้รู้จักกับ Social Enterprise

ค่านิยมที่ปลูกฝังว่า “เด็กเรียนเก่งต้องเป็นหมอ”เพราะเป็นอาชีพมั่นคง ทำให้พ่อแม่หลายคนพยายามส่งเสริมให้ลูกเรียนโรงเรียนดังๆที่มีการจัดการศึกษาดีๆ มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เรียนพิเศษ เพื่อให้ได้ผลการเรียนที่สูงๆ สามารถสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันการศึกษาชื่อดังอันดับต้นๆของประเทศ แน่ละว่า “แพทย์ศาสตร์ สถาปัตย์ วิศวะ” เป็นคณะในดวงใจของพ่อแม่และเด็กเก่งทั้งหลาย

และ 11 ปีก่อน พริม - พริมา เพชราภิรัชต์ สอบเข้า ม.4 สายวิทย์-คณิตฯ คอมพิวเตอร์ เตรียมอุดมศึกษา ก็ได้รับการันตรีว่าเป็นคนเก่งเพราะสมัยนั้นใครๆก็ยอมรับว่าสาขานี้สอบยากมาก ที่ผ่านมา เธอ ก็ดำเนินชีวิตเหมือนเด็กที่เรียนเก่งทั่วไป ที่ครอบครัวอยากให้เป็นหมอเพราะเป็นอาชีพมั่นคง รวมถึงเพื่อนๆ ที่เรียนห้องเดียวกัน 90% ต่างวางอนาคตไว้ว่าจะเป็นหมอเช่นกัน กระทั่งมีงานจุฬาฯ วิชาการ พริม มีโอกาสได้ไปร่วมงาน Open House และค้นพบว่าอาชีพหมอไม่ใช่อนาคตที่ตามหา

“เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าหมอไม่ใช่อาชีพที่เราอยากทำ ต้องเจอเลือด เจอแผล กลัวเข็มฉีดยา และหากเรียนด้านนี้อาจจะไม่มีความสุข จึงย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่าชอบอะไรกันแน่ ”จนได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจ และมีวิชาแนะแนวซึ่งอาจารย์ให้ทำแบบทดสอบ ผลออกมาคือ เป็นนักสังคมสงเคราะห์ แต่ก็ยังมีคำถามว่าอาชีพนี้จะไปทำงานอะไร จนกระทั่งรู้จัก Social Enterprise หรือ ธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้รู้ว่าเราเลี้ยงตัวเองได้ สร้างงาน สร้างรายได้ และทำเพื่อสังคมได้พร้อมๆ กัน

จากการค้นพบตัวเอง พริม จึงตัดสินใจสอบเข้าคณะบัญชี สาขาบริหารธุรกิจ เอกการเงิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมขวนขวายหาประสบการณ์โดยทดลองในตำแหน่ง Manager ระหว่างเรียนปี 2 ที่บริษัทจำลองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn Business Administration : CBA 2014) จัดอบรมหลักสูตร Micro MBA และ Digital Marketing ประสบความสำเร็จ ยอดรวม 3 เดือน 2.6 ล้านบาท รวมถึงฝึกงานด้านคอนเซาท์ในบริษัทเอกชนระหว่างเรียนปี 2 - 3 และเข้าโครงการแลกเปลี่ยนช่วงปี 4 เทอม 1 ด้านธุรกิจสตาร์ทอัพที่ University of South Carolina ประเทศสหรัฐอเมริกา

เธอเล่าว่ารู้สึกว่าชอบและมีความสุขจากการที่ได้ลองทำ CBA ได้เห็นผลที่เกิดจากการกระทำของเราเอง หลังจากเรียนจบ อยากทำสตาร์ทอัพเพื่อสังคม แต่ด้วยความที่จังหวะยังไม่พร้อม เลยตัดสินใจสมัครเข้าทำงานที่ธนาคารแห่งหนึ่ง 1 ปี ตำแหน่งนักวิเคราะห์สินเชื่อรายใหญ่ แต่รู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์คุณค่าในชีวิต

 

ด้วยความเป็นวัยรุ่น จึงลาออกจากงาน มาช่วยงานรุ่นพี่ที่รู้จักทำธุรกิิจแต่สุดท้ายไม่รอด กว่าจะตั้งสติได้ก็ 2-3 เดือน จึงกลับไปเรียนรู้งานด้านธุรกิจกับคุณอา 1 ปี ระหว่างนั้นก็เข้าเวิร์คช้อปสตาร์ทอัพเรื่อยๆ จนกระทั่งได้เข้าร่วมเวิร์คช้อป Yeah เป็น  โครงการของสถานทูตสหรัฐอเมริกา สอนเกี่ยวกับเรื่องการทำสตาร์ทอัพ

พริม ได้เจอพี่คนหนึ่งที่มีแนวคิดและสนใจในเรื่องการศึกษาไทย ทำเพื่อสังคม และให้ความสำคัญกับ Passion ซึ่งมีไอเดียคล้ายกันมาก จึงเริ่มตั้งบริษัทขึ้นมาแต่ยังคงทำงานกับคุณอาอยู่ หลังจากนั้น จึงเขียนแผนธุรกิจชิงทุน TED Fund ของกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ ชนะเลิศได้เงินทุนมาเกือบ 2 ล้านบาท กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ We Space

ปัจจุบัน พริม ในวัย 26 ปี เป็น Co-founder และ CFO บริษัท เอ็ดไวซอรี่ จำกัด และ Project Manager โครงการ WE Space (Work and Education Space for All) เป็น Consulting ด้านการศึกษา ที่เกิดจากการรวมตัว 4 ผู้ก่อตั้งหลากหลายวิชาชีพ ทั้ง คอนเซาท์ บัญชี ครูอาสา และนักจิตวิทยา

เปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ค้นหาตัวตน ได้ออกแบบชีวิต เป้าหมาย และพัฒนาตนเองในแบบที่อยากเป็น โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษา ทำวิจัยออกแบบภาพรวมการศึกษาไทย โดยศึกษาจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย ดึงข้อดีและปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย

เด็กหลายคนไม่รู้จักตัวเอง เราจึงทำ We Space ขึ้นมาเพื่อให้เด็กลองหยุดและสะท้อนตัวเองก่อนหลังจากนั้น เว็บจะประมวลผลนำไปสู่กิจกรรมที่คิดว่าเหมาะกับพวกเขา เช่น ค่ายดีไซน์ การแข่งขันดีไซน์ เพื่อให้เด็กไปลองทำดู ให้เขารู้ตัวเองมากขึ้นว่าชอบหรือไม่ชอบ ผ่าน คอนเซปต์ 4E ได้แก่ EVALUATE : รู้จักตัวเองเข้าใจความสามารถผ่านเครื่องมือค้นหาตนเอง ที่เชื่อมโยงกับอาชีพที่อยากเป็นแบบ 360 องศา EXPLORE : ค้นหาอาชีพรู้จักงานที่ชอบ เส้นทางที่ใช่ จากฐานข้อมูลกว่า250 อาชีพ EXPERIENCE : เก็บเกี่ยวประสบการณ์พัฒนาตนเองผ่านการลงมือทำเพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างตรงจุด และ EMPOWER : ออกเดินทางสู่เป้าหมายผ่านการฝึกฝนตอบโจทย์ที่คิดและตรงกับใจที่ฝัน โดยสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://wespace.in.th/

“เด็กไทยยิ่งรู้ตัวเองได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่จากการลงไปสัมภาษณ์พูดคุยกับเด็ก พบว่า ปัจจุบัน เด็กไทยยังไม่พร้อมขนาดนั้น เด็ก ม.ต้น ยังไม่พร้อมที่จะคิดเรื่องนี้เลย ทั้งบริบทสังคม พ่อแม่ ไม่มีการปลูกฝังให้คิดถึงเรื่องอนาคต แต่ ม.ปลายจะมีความพร้อมมากกว่า ดังนั้น We Space จึงเข้าไปจับกลุ่มม.ปลาย และในอนาคตเราอยากจะถอยกลับไปยิ่ง ป.1 ได้ยิ่งดี”

     นอกจากนี้ เด็กไทยค่อนข้างจะขาดโอกาสในการได้รับข้อมูล เขาจะรู้แค่ในวงสังคมที่เขาอยู่หลายครั้งที่เด็กไม่ทำหรือไม่ไป เพราะเขาไม่รู้ว่าจะไปทางนั้นได้อย่างไร ที่พ่อแม่ไม่ให้ไป เพราะพ่อแม่ยังไม่เห็นว่า เด็กไปตรงนั้นแล้วจะรอดได้อย่างไร หากเขาเห็นก็จะช่วยได้ระดับหนึ่ง และนอกจากเห็นก็ต้องพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นได้ด้วย

พริม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่เด็กไม่รู้จักตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่เชื่อว่าเด็กทำได้ เราเคยคุยกับน้องที่เป็นเด็กแว้นมาก่อน เขาบอกว่าพอเขาอยู่ตรงนั้นมีคนให้ความสำคัญ เขาเป็น Somebody ไม่ใช่ No one กลับกันคือ ผู้ใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ดังนั้น โอกาสในการแสดงออกจึงสำคัญ

การศึกษาไทย ไม่สามารถแก้ได้ด้วยคนกลุ่มเดียว หรือต้องเป็นรัฐบาลอย่างเดียว แต่ควรมีหลายหน่วยงานช่วยกัน และยังไม่มีใครแก้ปัญหาเชิงระบบของการศึกษาไทย ส่วนมากจะเน้นจัดกิจกรรม ดังนั้น เด็ก ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรมีส่วนร่วมในภาพใหญ่ว่าอยากเห็นภาพการศึกษาออกมาเป็นแบบไหน อะไรที่ต้องปรับ และปรับอย่างไรแม้การขึ้นมาถึงตำแหน่ง Co-founder ในวัย 26 ปี หลายคนอาจมองว่าประสบความสำเร็จ แต่สำหรับพริมกลับมองว่าเป้าหมายในชีวิตยังอีกไกล และคงต้องเหนื่อยขึ้นหลายเท่า

เรามองว่าทางข้างหน้าอีกไกล และต้องเหนื่อยมากแน่ๆ แต่หากช่วยเด็กไทยได้จริงๆ ยังไงก็คุ้ม เรารู้ว่าถ้าเราล้มเลิกความตั้งใจ แล้วไม่ทำสิ่งนี้ต่อ แล้วน้องๆ คนอื่นๆ ที่ยังขาดแคลนใครจะช่วยพวกเขา อีกนานแค่ไหนที่สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปถึงเขา พอคิดแบบนี้ก็ไม่อยากจะยอมแพ้ง่ายๆ” พริม กล่าวทิ้งท้าย