ชาย-หญิงจะเท่าเทียมกันได้ต้องเริ่มที่ครอบครัว-โรงเรียน

ชาย-หญิงจะเท่าเทียมกันได้ต้องเริ่มที่ครอบครัว-โรงเรียน

ค่านิยมที่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอไม่กล้าตัดสินใจจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำทางเพศและฝังอยู่ในหลากหลายวัฒนธรรม ส่งผลให้ผู้หญิงถูกตีกรอบในการกำหนดบทบาท ทั้งที่มีการเรียนรู้พัฒนาตัวเองจนมีศักยภาพในหลายด้านตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไปทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

สาเหตุที่ผู้หญิงมักถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม เพราะทุกฝ่ายปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และถูกสอนให้เชื่อมาโดยตลอดว่า ความไม่เป็นธรรมดังกล่าวเป็นไปตามธรรมชาติและเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าสังคมไหนก็มองว่าผู้หญิงเป็นคนไร้เหตุผล และเจ้าอารมณ์ทั้งนั้น ซึ่งการสอนเรื่องเหล่านี้ เกิดขึ้นตั้งแต่เรามีชีวิตจนเติบโต จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเพศ นอกจากไม่สามารถขจัดได้หมดแล้วยังกลับถูกฝังรากลึก จนทำให้ผู้หญิงยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ทุกวันนี้ผู้หญิงก็ยังไม่ได้รับการยกย่องตามที่ควรจะเป็น สืบเนื่องจากค่านิยมและแนวปฏิบัติดังกล่าว คนส่วนใหญ่ในโลกถูกสอนมาตั้งแต่เกิด ให้มองค่านิยมแบบดั้งเดิมต่อผู้หญิงเป็นเรื่องปกติ จนทำให้ถูกหล่อหลอมให้ยอมรับและเชื่อโดยปราศจากเงื่อนไข โดยไม่เคยตั้งคำถามว่ามันเป็นเรื่องถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ ในเรื่องความเสมอภาคทางเพศ

ตัวอย่างเช่น ตำแหน่งผู้บริหาร ทั้งในภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ ฝ่ายการเมืองของทุกๆ ประเทศ มักพบว่าผู้หญิงก็จะมีส่วนร่วมในตำแหน่งดังกล่าวน้อยมาก โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง แต่จะมีโอกาสเป็นผู้บริหารระดับกลางมากกว่ารวมถึงค่าตอบแทนในหน้าที่การงานของผู้หญิง ก็จะได้ค่าตอบแทนน้อยกว่า แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ โดยผู้หญิงจะได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายในตำแหน่งที่คล้ายกัน

ขณะเดียวกันผู้หญิงนอกจากต้องทั้งทำงานแล้ว ยังต้องดูแลลูก จึงเป็นสิ่งที่ฝรั่งเขาบอกว่า Double Burden หรือผู้หญิงมีภาระสองด้าน หรือมีภาระสองเท่า แต่ผู้หญิงไทย อาจจะต้องทำงานมากกว่านั้นหลายเท่า เพราะต้องดูแลเครือญาติ และเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม

     ​รศ.ดร.จุรี วิทจิตรวาทการ ประธานจัดการประชุมเชิงปฎิบัติการ ASEAN Woman และประธานศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม เปิดเผยว่าการที่ผู้หญิงมักถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม เกิดขึ้นทุกแห่งมากน้อยแตกต่าง ในประเทศอาเซียนแล้ว มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศหญิงและชายเหมือนกัน บางประเทศระดับของปัญหาจะมีมาก และบางประเทศระดับของปัญหาก็จะมีน้อย แม้ว่าที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาในหลายๆ อย่าง แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงอยู่

มีการทำวิจัย พบว่าในตำราเรียนของไทยจะมีจำนวนมากที่ผู้ชายจะเป็นผู้นำ โดยยืนถือไมค์โครโฟน ผู้ชายใส่เสื้อกาวน์เป็นหมอ ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่แค่เป็นผู้ช่วย เป็นเลขา ผู้หญิงใส่ชุดเป็นพยาบาล ซึ่งเป็นการถ่ายทอดโดยไม่รู้ตัว   นอกจากนี้ มุมของครูมีวิธีปฏิบัติต่อเด็กนักเรียน การให้โอกาสเป็นผู้นำ เล่นกีฬา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลทั้งนั้น การแข่งกีฬาทำให้คนกล้าสู้ กล้าที่จะเผชิญปัญหา แต่โรงเรียนไทยถ้าเป็นสหศึกษา พบว่าผู้หญิงจะตีปิงปอง เป็นกองเชียร์ ส่วนสนามกีฬาส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของเด็กผู้ชาย

“จากภาพเหล่านี้ ต้องยอมรับว่า เป็นภาพที่เด็กๆ ได้พบเห็นมาตั้งแต่เล็กเลย ซึ่งภาพเหล่านี้ จะมีผลต่อเด็กผู้หญิงที่ว่าตัวเองจะไปได้ไกลแค่ไหน เพราะรูปแบบที่เป็นภาพติดตา นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของคำพูดที่ใช้ หรือภาษา และการเขียนอะไรต่างๆ ซึ่งบางทีใช้โดยไม่ระมัดระวัง”รศ.ดร.จุรี กล่าว

   

รศ.ดร.จุรี กล่าวอีกว่าดังนั้นการสอนเรื่องความเท่าเทียมกันของ ชาย หญิง จึงต้องเริ่มต้นจาก โรงเรียน สถาบันครอบครัว โดยเริ่มปลูกฝังค่านิยมกับเด็กตั้งแต่วัยเล็กสุด โดยให้แนวคิดเริ่มจากระดับอนุบาลและประถม ที่ต้องตระหนักถึงปัญหาค่านิยมเกี่ยวกับผู้หญิงที่แฝงอยู่ในบทเรียน เสียใหม่และแนวปฏิบัติในสถานศึกษาต่างๆแบบผิดๆมาในอดีต และชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องแก้ไขให้ถูกต้อง

 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากประเทศในกลุ่มอาเชียน ประชุมปฏิบัติ ระดับภูมิภาคเรื่องการขจัดอคติทางเพศและการใช้ภาษาเชิงลบในกระบวนการการศึกษาในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ระยะที่ 1 นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับความเสมอภาคทางเพศ  แต่ละประเทศ จะส่งผู้แทนเชี่ยวชาญด้านสตรีเรื่องความเสมอภาค และตัวแทนความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา เข้าร่วมประชุมเมทื่อวันที่ 3-4 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยในที่ประชุมมีการนำเสนอกรณีตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกที่เด็กทุกคนมีความเสมอภาคกันมาจะเป็น Best Practice รวมทั้งการส่งเสริมให้ผู้หญิงเรียนเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ Math และ Engineering เพราะผู้หญิงจะเข้าสู่เรื่อง Tech และวิทยาศาสตร์ได้น้อยกว่าผู้ชาย จะเปิดโอกาสอย่างไร สังคมจะเกื้อหนุนช่วยได้อย่างไร เพื่อไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำ ถ้าผู้หญิงอยากเรียนให้ได้เรียนและจะส่งเสริมอย่างไร

สำหรับผลการระดมสมองในครั้งนี้ จะนำไปผลิตเป็นเนื้อหาและสร้างเครื่องมือการสื่อสารที่ทันสมัยสอดคล้องกับยุคปัจจุบันเพื่อนำไปเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปทุกเพศ ทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ ให้เห็นถึงปัญหาที่ถูกฝังเป็นรากลึกมายาวนาน ซึ่งต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้หญิงเพศแม่เสียใหม่ โดยปี 2563 จะผลิตสื่อเพื่อให้คนดูสื่อแล้วจะรู้ทันทีว่าเกิดความเหลื่อมล้ำ แต่เป็นสื่อที่ทำแบบดูง่ายๆเป็นแอนนิเมชั่นเป็นสื่อแบบใหม่ที่ดูแล้วมีความน่ารัก อาจจะมีละครด้วยผลิต 6 เรื่อง

รวมทั้งจะมีการทำออกมาเป็นคู่มือ จะส่งเสริมความเสมอภาคได้อย่างไร ในบริบทของโรงเรียน โดยจะมุ่งเน้นที่เด็ก และบริบทของโรงเรียน คุณครูปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร โอกาสของเด็กหญิงกับเด็กชายในโรงเรียน เครื่องมือที่นำมาใช้จะทำให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจเรื่องความเหลือมล้ำทางเพศได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น และตระหนักว่า หญิงและชายนั้นเท่าเทียมกัน และช่องว่างระหว่างเพศควรต้องหมดไป