“เอบิสอาเซียน”หนุนร่วมมือผู้นำธุรกิจ

“เอบิสอาเซียน”หนุนร่วมมือผู้นำธุรกิจ

บรรดาผู้แทนภาคเอกชนจากประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้หารือกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องเหล่านี้ เพื่อตกผลึกและสรุปเป็นข้อคิดเห็นจากภาคเอกชน นำไปสู่การร่างเป็นหนังสือส่งต่อไปยังอาเซียน-แบคให้ความเห็นชอบ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมอาเซียนซัมมิทต่อไป

การประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน (เอบิส) 2019 และเวทีรางวัลนักธุรกิจอาเซียนดีเด่น (เอบีเอ) 2019 เป็นหนึ่งในเวทีคู่ขนานที่สำคัญของการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2562 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จัดโดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (อาเซียน-แบค) ในปีนี้ เวทีเอบิสจะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มธุรกิจให้กับชุมชนอาเซียน ได้สร้างความมีส่วนร่วมระหว่างผู้นำทางธุรกิจ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (เอ็มเอสเอ็มอี) และสตาร์ทอัพ ในกำหนดทิศทางและส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจ นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนที่แข็งแกร่ง

มนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า ขณะนี้ อาเซียน-แบคมีความพร้อมในการจัดการประชุมเอบิส ซึ่งผู้แทนภาคเอกชนจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันกำหนดแนวคิดหลักของการประชุมในหัวข้อ "การเพิ่มศักยภาพอาเซียน 4.0" เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความสลับซับซ้อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ให้เกิดการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนภายในอาเซียนและนอกภูมิภาค

การประชุมเอบิส ในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนได้มีผู้นำประเทศสำคัญๆ เตรียมขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีนี้ อาทิ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียะห์ มูอิซซัดดีน วัดเดาละห์แห่งบรูไน ในฐานะนายกรัฐมนตรีบรูไน พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย จึงถือว่าเวทีนี้มีความยิ่งใหญ่ และประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการจัดให้ผู้นำและภาคเอกชนในอาเซียนได้พบปะกัน

มนตรี ระบุว่า เวทีนี้แบ่งเป็น 6 หัวข้อใหญ่ๆ ได้แก่ 1. การก้าวไปสู่อาเซียน 4.0 ที่มีห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก ที่มุ่งพัฒนาขีดความสามารถให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้าไปสู่ระบบห่วงโซ่คุณค่าเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระดับโลก 2. อาเซียน 4.0 ที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อผู้ประกอบการและภาคเอกชนอาเซียนได้เข้าไปอยู่ในระบบห่วงโซ่คุณค่าแล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญในเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม

3. การส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการเอ็มเอสเอ็มอีได้เข้าถึงแหล่งเงินเพื่อการลงทุน และระบบคลาวด์ฟันดิ้ง เพื่อเปิดโอกาสและสนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในภูมิภาค และสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง 4. การเปลี่ยนผ่านและเชื่อมโยงอาเซียนด้วยดิจิทัล ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ตลอดดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้เกิดการค้าเศรษฐกิจดิจิทัล

"สำหรับประเทศไทย ได้จัดทำแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศไทย (เอ็นดีทีพี) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเรื่องนี้ไปเมื่อกลางเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆก็จะจัดทำแพลตฟอร์มของประเทศตนเอง โดยไทยก็จะผลักดันให้มีการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มการค้าเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการเปลี่ยนผ่านและเชื่อมโยงอาเซียนด้วยดิจิทัล" กล่าวย้ำ

5. การเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอาเซียนเป็นโครงการสำคัญที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้จัดทำขึ้นมา เพื่อพัฒนาประชาชนในภูมิภาคให้ทันกับกระแสเทคโนโลยีและปรับตัวให้เข้ากับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่กำลังมาถึง

พร้อมกับรับมือกับความท้าทายทางเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ ด้วยการนำนวัตกรรมใหม่ อาทิ หุ่นยนต์ และเอไอเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตให้ได้ผลผลิตจำนวนที่สูงขึ้น และช่วยทุ่นแรงของมนุษย์ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะส่งมอบและดำเนินการในปีต่อไป

และ 6. การให้คำปรึกษาแนะนำและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการเอ็มเอสเอ็มอี ซึ่งโครงการนี้ ฟิลิปปินส์เป็นผู้ริเริ่ม ที่รู้จักกันในวงการว่า “บิ๊กบราเธอร์” ทำหน้าที่เหมือนกับพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการในประเทศได้ส่งผลสำเร็จที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นฝ่ายไทยจึงให้การสนับสนุนแนวทางดังกล่าว และผลักดันให้มีการดำเนินงานขยายขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยยกระดับเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาผู้ประกอบการครอบคลุมทั่วภูมิภาค