พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ยกระดับสากลสู่ “Smart Museum”

พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ยกระดับสากลสู่ “Smart   Museum”

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีภารกิจหลักในการเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรด้านการเกษตรได้มีการพัฒนาตัวเอง

     เดินหน้าและตั้งมั่นในการสนองพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา  ต่อยอดแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

      นายสหภูมิ  ภูมิธฤติรัฐ  ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พิพิธภัณฑ์เกษตรฯได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2552 ดังนั้นปีนี้ถือว่าได้ก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 โดยใน10ปีที่ผ่านมามีประชาชนเข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้จำนวนกว่า10 ล้านคน  ซึ่งจากความมุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธาน สู่การรักษาต่อยอด พระอัจฉริยภาพพระมหากษัตริย์ไทยด้านการเกษตร ส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนา ยกระดับพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตในระดับสากล พัฒนาเป็นองค์การเพื่อสร้างสรรค์ภูมิปัญญาสังคมไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต   รวมทั้งได้พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สมบูรณ์แบบ พร้อมนำเสนอเผยแพร่องค์ความรู้ในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตรสู่สาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น

Photo.4

      นายสหภูมิ  ได้กล่าวถึงแผนพัฒนาพิพิธภัณฑ์เกษตรในอนาคตด้วยว่า   เพื่อก้าวสู่พิพิธภัณฑ์ที่สมสมัยสอดรับกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัล พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ มุ่งพัฒนาองค์กรสู่ความเป็น Smart Museum เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเกษตร โดยการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ประสานความร่วมมือไปยังภูมิภาคต่างๆ และจัดตั้งศูนย์เครือข่าย พกฉ. และศูนย์เรียนรู้เครือข่าย พกฉ. ทั่วประเทศแล้ว 63 ศูนย์ และภายในปี65 วางแผนขยายศูนย์ให้ครบ77 จังหวัด เพื่อจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่องค์ความรู้เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าถึงประชาชนมากยิ่งขึ้น

  

      นอกจากนี้ยังมีแผนในการพัฒนาพื้นที่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งให้เป็นอุทยานการเกษตรสนองพระราชปณิธานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้แล้วเสร็จภายในปี65  สำหรับอุทยานดังกล่าวจะมีตัวอาคารสนองพระราชปณิธานพระองค์ด้านการเกษตรแบบครบมิติและอาคารสืบสาน รักษา ต่อยอดที่แสดงให้เห็นถึงผลความสำเร็จ ในการดำเนินการตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น มีผลผลิตออกมาจำหน่าย สามมารถเห็นผลผลิตได้จริงๆ  ประกอบด้วย อาคารเรียนรู้พืชการเกษตร   กลุ่มอาคารเรียนรู้พันธุกรรมสัตว์ กลุ่มอาคารเรียนรู้พืชผักพื้นบ้าน   กลุ่มอาคารเรียนรู้น้ำและจุลินทรีย์    กลุ่มอาคารเรียนรู้พันธุกรรมพืชและสัตว์น้ำ โดยอุทยานดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับ"โครงการWisdom Farm” ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอดที่มุ่งเน้นให้เยาวชนและคนทั่วไป น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

     รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่จัดแสดงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำเกษตรโดยภายในโครงการ พบกับกิจกรรมมากมาย ได้แก่  Wisdom Cafe’ ท่ามกลางบรรยากาศท้องทุ่งเดินเล่นถ่ายภาพบนสะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวไปในทุ่งนา โซนบ้านเรือนไทย 4 ภาค สัมผัสวิถีชีวิต ความเชื่อประเพณีของเกษตรกรไทยชมเรือขุดในสมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมจุดชมวิวแบบ Excluive  ฐานการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ "แปลงนาสุริยะ " ที่เป็นการจัดการแปลงขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตและฐานเรียนรู้อื่นๆ

Photo.3

     

      พิพิธภัณฑ์เกษตรมุ่งพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย  สร้างการมีส่วนร่วมความสนุก ตื่นตา ตื่นใจสำหรับผู้เข้าชม เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชั่นการเรียนรู้ Wisdomking  Museum  พัฒนาเทคโนโลยีส่งต่อองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้เข้าถึงทุกช่วงวัยให้เข้าใจง่ายและรวดเร็ว ภาพยนตร์แอนิเมชั่น 3 มิติ เรื่องใหม่ล่าสุดอัจฉริยะนวัตกรรม ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอพระอัจฉริยภาพด้านนวัตกรรมการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  อาทิ โครงการแกล้งดิน โครงการฝนหลวง และกังหันน้ำชัยพัฒนา สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย

     "ในอนาคตเรามีแผนจะพัฒนาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้มีความก้าวหน้าทันสมัย โดยเฉพาะโซนโครงการWisdom  Farm  เราจะผลักดันให้เป็น Edutainment หรือแหล่งเรียนรู้ผสมกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน เพลิดเพลินมากกว่าที่จะเป็นเพียงแค่จุดเช็คอิน ถ่ายรูปเท่านั้น”นายสหภูมิ กล่าว