‘เด็กอินโดฯ’กว่า 10 ล้าน เสี่ยงป่วยโรคทางเดินหายใจ

‘เด็กอินโดฯ’กว่า 10 ล้าน เสี่ยงป่วยโรคทางเดินหายใจ

ยูนิเซฟชี้ว่า เด็กอินโดนีเซียกว่า 10 ล้านคนเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ จากปัญหาหมอกควันยากจะหลีกเลี่ยงได้

องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ ออกแถลงการณ์ในวันนี้ (24 ก.ย.) ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าได้ก่อมลพิษทางอากาศ ส่งผลให้เด็กอินโดนีเซียกว่า 10 ล้านคนเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเป็นจำนวนมาก 

ช่วงสัปดาห์นี้ ปัญหาหมอกควันได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลกระทบต่อการบิน การสัญจรทางอากาศ และผู้คนต้องซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองมาสวม นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ต้องประกาศหยุดโรงเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดฝุ่นควันพิษ

รายงานยูนิเซฟ ชี้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เกือบ 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1 ใน 4 อายุต่ำกว่า 5 ขวบ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงที่สุดจากไฟป่าบนเกาะสุมาตราและบางส่วนของเกาะบอร์เนียว 

“เด็กเล็กมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษเพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนสตรีมีครรภ์อาจคลอดก่อนกำหนดและทารกอาจมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ คุณภาพอากาศย่ำแย่กำลังเป็นปัญหาร้ายแรงและรุนแรงของอินโดนีเซีย แต่ละปีเด็กหลายล้านคนสูดอากาศพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ขาดเรียน มีผลระยะยาวทางร่างกายและสติปัญญา รวมทั้งคุณภาพของเด็กด้อยลงเพราะขาดเรียน” ดีโบรา โคมินิ จากองค์กรยูนิเซฟ ระบุ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์หมอกควันในเกาะสุมาตรากำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต โดยล่าสุดได้มีการเผยแพร่ภาพทางโลกออนไลน์ เป็นภาพท้องฟ้าในจังหวัดจัมบี ตอนกลางของเกาะสุมาตรา ที่กลายเป็นสีแดงเพลิงอย่างน่ากลัว เป็นการกระเจิงของแสง เนื่องจากอนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าความยาวคลื่นแสง เกิดขึ้นเมื่อหมอกควันหรือฝุ่นละอองในอากาศ ปะทะแสงอาทิตย์ทำให้คลื่นที่สั้นนั้นกระเจิงไป และปล่อยคลื่นที่ยาว ซึ่งเป็นสีส้มหรือแดงออกมา ทำให้ท้องฟ้าบริเวณนั้นเป็นแดง โดยปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้ว เมื่อครั้งที่ภูเขาไฟปินาตูบู ของอินโดนีเซียเกิดระเบิดในปี 2534