ไทยพร้อมร่วมผลักดัน MSME อาเซียน มุ่งสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์
ไทยพร้อมร่วมผลักดัน MSME อาเซียน มุ่งสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์
วันนี้ (5 กันยายน 2562) เวลา 09.05 น. ณ โรงแรมแมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุม Conference on ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities
นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้มาร่วมพิธีเปิดการประชุม เพื่อเป็นเวทีสำหรับหารือแนวทางที่จะส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย พร้อมทั้งแนวทางในการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายในการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาคที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ จำนวนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ในอาเซียนรวมกันมากกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนวิสาหกิจที่มีอยู่ในแต่ละประเทศ โดยไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ให้การส่งเสริม MSME เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2557 สอดคล้องกับประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้สำเร็จในปีนี้
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า การประชุมในวันนี้เป็นประเด็นที่ทุกรัฐบาลควรให้ความสำคัญ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากดิจิทัลอย่างเต็มที่ สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูล และเข้าถึงตลาด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเชิงนโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการภายใต้ “แนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน”
แนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน เป็นการแนะแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเน้นในเรื่องการสนับสนุนการเข้าสู่ระบบและการใช้ดิจิทัลในการออกสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งแนวทางสำหรับภาครัฐในการใช้ดิจิทัลในการบริหารจัดการระบบต่าง ๆ โดยเสนอให้กำหนดนโยบายในอาเซียนควรช่วยให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและเข้าสู่ตลาดใหม่ได้โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้
ทั้งนี้ ภาครัฐควรใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในแง่มุมอื่นๆ ที่เอื้อต่อการเติบโตของผู้ประกอบการ
1. การสนับสนุนการเข้าสู่ระบบโดยใช้ดิจิทัล โดยเชื่อว่าระบบดิจิทัลมีบทบาทในการลดจำนวนของธุรกิจนอกระบบได้ ทั้งนี้ ในอาเซียนมีธุรกิจจดทะเบียนอย่างถูกต้องประมาณ 10.04 ล้านราย ซึ่งธุรกิจที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการสร้างงานมากกว่า 72 ล้านตำแหน่ง อาเซียนพยายามสนับสนุนให้วิสาหกิจรายย่อยจดทะเบียนเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ระบบ และลดขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ เพื่อการอำนวยความสะดวกให้วิสาหกิจรายย่อยเติบโต ให้ภาครัฐสามารถส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เท่าเทียม และทำให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน
2. ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจรายย่อยในการเข้าถึงแหล่งเงิน ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มผลิตภาพและมีความมั่นคงมากขึ้น
3. ภาครัฐควรส่งเสริมการเข้าถึงบริการในการพัฒนาธุรกิจ ในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวนมากบริการพัฒนาธุรกิจยังค่อนข้างขาดแคลน อาจหมายถึงการมีหน่วยงานจำนวนไม่มากที่สามารถเชื่อมต่อความรู้ไปยังผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ ภาครัฐจะต้องพิจารณาถึงการกระจายเทคโนโลยีที่เหมาะสมด้วย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากศูนย์เทคโนโลยีประยุกต์ การริเริ่มเครือข่ายชุมชนเทคโนโลยี หรือแรงจูงใจในการถ่ายโอนความรู้
4. ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับประชาชนเพื่อช่วยในการใช้ดิจิทัล เนื่องจากประชาชนที่ต้องการใช้ดิจิทัลจะต้องมีทักษะที่ต่างออกไป การส่งเสริมทักษะดิจิทัลในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และการศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของการใช้เครื่องมือดิจิทัลและบริการดิจิทัลในสังคม
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้ประกอบการ MSME เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กิจการเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก และกระจายตัวกันอยู่ทั่วทุกภูมิภาค หากรัฐบาลสามารถดูแลกิจการเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ อันเป็นปัญหาที่สำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียนเราลงได้มาก
การแก้ปัญหาและการส่งเสริม MSME เป็นเรื่องที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องดำเนินการร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่เห็นภาครัฐและเอกชนได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ขึ้น มีเอกชนทั้งรายใหญ่และ MSME เป็นผู้เล่นหลัก และรัฐทำหน้าที่สนับสนุน อันจะช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนา MSME อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ทั้งนี้ การรวมตัวและร่วมมือกันของภาคเอกชนนี้ จะเป็นกลไกสำคัญให้ประชาคมอาเซียนมีความแน่นแฟ้น และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนจะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดหลักของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน”