หนุนชาติสมาชิก IMT-GT ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.45 ล้านล้านบาท

หนุนชาติสมาชิก IMT-GT ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.45 ล้านล้านบาท

สศช.หนุนกลุ่มประเทศสมาชิกเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย สร้างความเชื่อมโยงเร่งลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน1.45 ล้านล้านบาท และเมืองยั่งยืนรวม 2562 – 2579 วงเงินรวม 5.2 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.62 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 12 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)ซึ่งมีผู้นำประเทศสมาชิกเข้าร่วมการประชุมสำคัญได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยมีการประชุมฯที่ประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าที่ประชุมฯได้เร่งรัดการลงทุนในโครงการเชื่อมโยงทางกายภาพ 39 โครงการใน 3 ประเทศ มูลค่ารวม 47,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันหลายโครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความสะดวกในการคมนาคมขนส่งและการประกอบธุรกิจมากขึ้น เช่น รถไฟรางเบาสายสุมาตราใต้ในเมืองปาเลมบังของอินโดนีเซีย โครงการปรับปรุงอาคารที่ทำการด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา โครงการปรับปรุงด่านศุลกากรวังประจัน จังหวัดสตูล และโครงการเมืองยางพารา จังหวัดสงขลา เป็นต้น 

นอกจากนี้ผู้นำแผนงาน IMT-GT ยังได้รับทราบถึงความสำเร็จในการจัดทำกรอบการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ปี 2562– 2579 เพื่อเป็นแนวทางในการขยายผลโครงการเมืองสีเขียวให้เป็นที่แพร่หลาย โดยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มูลค่า 16,934 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.24 แสนล้านบาท พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียวที่มีศักยภาพจากทั่วโลก 

ทั้งสามประเทศยังได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาจุดแข็งของพื้นที่เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุนเช่น การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านการแปรรูปผลผลิตยางและปาล์มน้ำมันเพื่อพัฒนา เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ส่งเสริมผู้ประกอบการฮาลาลรุ่นใหม่ และการเตรียมความพร้อมแรงงานให้มีทักษะที่จำเป็น สามารถปรับตัวเข้ากับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงจากผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รวมไปถึงการร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวจุดหมายเดียว ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่อนุภูมิภาคมากขึ้น