วิกฤต 'ขยะพลาสติก' ในไทย

วิกฤต 'ขยะพลาสติก' ในไทย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยถือว่ามีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่า ด้านมลพิษทางอากาศ ค่าเฉลี่ยน้ำที่มีสิ่งสกปรก ปริมาณขยะมหาศาล โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่หลังจากจีนแบนยุติการรับขยะพลาสติกเข้ามาในประเทศอย่างเป็นทางการ

ส่งผลให้ประเทศอาเซียน ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ล้วนกลายเป็นประเทศปลายทางในการฟอกขยะพลาสติก สถานการณ์ขยะพลาสติกในประเทศไทยว่า ปัจจุบันขยะพลาสติกเกิดจาก 2 ส่วน คือ เกิดขึ้นเองภายในประเทศ และจากการนำเข้าขยะ ยิ่งจีนยุติการนำเข้าพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นไหลเข้ามาในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ จำนวนมากขึ้น มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้จัดทำสถิติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากต่างประเทศในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี2557-2561) เบื้องต้นพบว่า มีประเทศที่ส่งขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามายังประเทศไทยทั้งหมด 81 ประเทศ

10068501191849

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า โดย 5 อันดับประเทศที่มีการนำเข้าขยะพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด ได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง อเมริกา ออสเตรเลีย และจีน ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2559 มีนักลงทุนจีนย้ายฐานเข้ามาในประเทศไทย มีการตั้งโรงงานรีไซเคิล หรือโรงงานกำจัดขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงของเสียอื่นๆ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยจังหวัดที่มีการตั้งโรงงานเหล่านี้มาก คือ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี เพชรบุรี และราชบุรี

ปัจจัยหลักที่ทำให้ต่างประเทศส่งขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของเสีย รวมถึงมีการตั้งโรงงานขยะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะรัฐบาลไทยมีมุมมองส่งเสริมอุตสาหกรรม และการเปิดให้อุตสาหกรรมรีไซเคิล ของเสียอันตราย โดยไม่คำนึงว่าก่อมลพิษหรือไม่ ผู้มีอำนาจในประเทศไทย ไม่มีความรู้ว่าขยะเหล่านี้ได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง ทั้งที่ในหลายประเทศมีการห้าม ควบคุมโรงงานเหล่านี้ ไม่ให้มีการขยาย และคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหน้านี้ได้มีการขยาย เปิดให้โรงงานขยะตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตร จนทำให้เกษตรกรเดือดร้อน เนื่องจากเกิดการปนเปื้อน

"ดังนั้น เมื่อประเทศไทยไม่มีมาตรการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อม ไม่มีกฎหมายที่จะควบคุมดูแลไม่ให้โรงงานเหล่านี้ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นึกถึงแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ โดยไม่นึกถึงคุณภาพชีวิตของผู้คน จึงอยากฝากรัฐบาลชุดใหม่ ขอให้ทบทวน กำหนดมาตรการคุ้มครอง ออกกฎหมาย โดยยกเลิกการนำเข้าของเสียอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบทำตรงนี้ วิกฤตขยะพลาสติก ของเสียในประเทศไทยจะยิ่งวิกฤตมากกว่าที่เป็นอยู่” เพ็ญโฉม ระบุ

สำหรับมาตรการในแก้ปัญหาวิกฤตขยะพลาสติก เสนอแนะว่าควรมีการผลักดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 เพราะ

พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมองข้ามเรื่องความปลอดภัยอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต่อสิทธิของคน รวมถึงควรเปิดเผยข้อมูลมลพิษ อยากเรียกร้องผู้นำชาติอาเซียน มีมติและให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียน และการสนับสนุนมาตรการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy จัดการขยะพลาสติกนั้น ต้องดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะขยะภายในประเทศ ไม่ใช่นำขยะต่างประเทศเข้ามาด้วย

ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศเป็นผู้นำในการใช้มาตรการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรที่ถูกนำไปใช้แล้วให้กลับมาแปรรูปและนำกลับไปใช้ได้อีกในอนาคต ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการดำเนินการในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ อย่าง บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอลหรือ GC ในฐานะแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ของกลุ่มปตท. ได้ใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์เป็น GC Circular Living ด้วยการพัฒนานำพืชทางการเกษตรมาผลิตเป็นไบโอพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถทดแทนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และใช้หมดควบคู่การยกระดับมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทย

หรือโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand นำขยะพลาสติกจากท้องทะเลมารีไซเคิล โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมถึงการออกแบบมาเป็นผลิตภัณฑ์ และการนำระบบ 5 R ได้แก่ Reduce Reuse Repair Recycle Reject (zero waste )มาใช้ในทุกกระบวนการผลิตของโรงงานตั้งแต่การนำพลังงานเหลือทิ้งมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ในระบบการผลิต

อีกทั้ง ยังมีแผนการสร้างโรงงานรีไซเคิลพลาสติกแบบครบวงจรระดับสากลขนาด 4 หมื่นตันต่อปีมูลค่า 2,000 ล้านบาทที่ "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GC คาดว่า โรงงานนี้แล้วเสร็จในปลายปี 2563 และแผนลดกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับสินค้าชนิดใช้แล้วทิ้ง เช่น ถุงหูหิ้ว จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิต 1 แสนตันต่อปี ให้เหลือศูนย์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า และหันมาผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความคงทน พร้อมกับพัฒนาไบโอพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน เป็นต้น

วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรมศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าการแก้ปัญหาขยะพลาสติกของไทย ส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะจุดไม่ใช่แก้ต้นเหตุของปัญหาอย่างแท้จริง เพราะในด้านนโยบาย กฎหมาย ยังไม่มีการออกมาตรการมาลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ได้ดีที่สุดต้องผลักดันกฎหมายกำหนดนโยบาย และการใช้มาตรการเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงมาตรการสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะหากไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมโรงงานต่างๆ ไม่มีมาตรการมาช่วยสนับสนุนจัดการขยะพลาสติก ประเทศไทยจะประสบปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมหนักขึ้น