บุหรี่ทำไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 2 แสนล้านบาท

บุหรี่ทำไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 2 แสนล้านบาท

นักวิชาการ ชี้บุหรี่ทำไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 2 แสนล้านบาท มากกว่ารายได้รัฐเก็บภาษาบุหรี่ถึง 3.2 เท่า แนะไทยเก็บ “ภาษีบุหรี่” อัตราเดียว หลังพบเก็บ 2 อัตรา ส่งผลคนสูบไม่ลด เหตุบริษัทบุหรี่นอกหั่นราคา ช่วยเสียภาษีน้อยลง ขายได้มากขึ้น

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.62 ในงานแถลงข่าว Tobacco burns your lungs “บุหรี่เผาปอด” จัดโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งจากค่ารักษาพยาบาลปีละ 77,626 ล้านบาท ความสูญเสียจากการที่ต้องขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วยปีละ 11,762 ล้านบาท และความสูญเสียอันเกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรปีละ 131,073 ล้านบาท หรือคิดเป็นความสูญเสียรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 20,565 บาทต่อผู้สูบบุหรี่ 1 คนต่อปี หากเปรียบเทียบกับรายได้ที่รัฐจัดเก็บได้จากภาษีบุหรี่แล้วต่างกันถึง 3.2 เท่า ดังนั้นถือว่าไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลควรพิจารณาจัดเก็บภาษีบุหรี่โดยคำนึงถึงความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ด้วย

9880358140751

พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า มาตรการทางภาษีมีการวิจัยและพิสูจน์ว่า ได้ผลในการลดสูบบุหรี่มากที่สุด จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องขึ้นภาษีบุหรี่อย่างต่อเนื่อง และขึ้นในอัตราที่ทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยต้องสูงมากกว่าค่าครองชีพปัจจุบันของประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือฮู( WHO) มีข้อแนะนำว่า สัดส่วนของภาษีต่อราคาขายปลีกต้องอย่างน้อย 75% ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 73% ยังมีช่องที่ทำให้ขึ้นได้อีก แต่ปัญหาของประเทศไทย คือ มีการคิดภาษีแบบ 2 อัตราระหว่างบุหรี่ราคาถูกและราคาแพง โดยราคาไม่เกิน 60 บาท คิด 20 % หากเกิน 60 บาทคิด 40 % ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2562 แต่ล่าสุดประกาศเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกเป็นปี 2563 ตรงนี้จะส่งผลเสียต่อการรณรงค์เรื่องบุหรี่ จึงควรจะคิดในอัตราเดียวกันทั้งหมด คือ 40%ในทุกราคา ซึ่งหากสามารถทำตรงนี้ได้ จะช่วยให้สัดส่วนของภาษีสูงกว่า 75% แน่นอน

“การที่คิดอัตราภาษีบุหรี่ 2 อัตราแบบนี้ คนที่ได้รับผลประโยชน์ คือ บริษัทบุหรี่ต่างประเทศทั้งนั้น ที่ได้ผลกำไรมากขึ้นจากระบบภาษี 2 อัตราเช่นนี้ เพราะบริษัทบุหรี่ก็จะแจ้งราคาในระดับต่ำ เพื่อถูกคิดภาษีน้อยลง ขณะที่ราคาลดลงก็ขายได้เพิ่มขึ้น จะเห็นได้ชัดว่า ยอดขายของบุหรี่นอกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังปรับให้เป็นภาษีแบบ 2 อัตรา เพราะเขาเห็นช่องว่างตรงนี้ ส่วนประเทศอื่นๆ พบว่า หลายประเทศที่มีการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่ก็จะมีการออกภาษีหลายอัตรา บางประเทศมีกว่า 10 อัตรา ถือเป็นกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่ที่จะทำให้ราคาบุหรี่หลากหลายและคนก็ไม่เลิก คนจึงพูดว่าทำไมขึ้นภาษีบุหรี่แล้วคนสูบไม่ลดลง ต้องเข้าใจว่า เมื่อขึ้นต้องทำให้ราคาขายปลีกเปลี่ยนเทียบเท่าราคาอุปโภคบริโภคอื่นๆ ถ้าขึ้นแล้วราคาขายปลีกไม่ได้ขึ้นเท่าสินค้าอื่นๆ ก็เหมือนไม่ได้ขึ้น” พญ.เริงฤดี กล่าว

9880361712319

​นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกว่าการขึ้นภาษีบุหรี่นั้น เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันและทำให้คนเลิกสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลกขอแนะนำว่าระบบการเก็บภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียวนั้น ดีกว่าแบบสองอัตรา ซึ่งอาจจะทำให้นักสูบหันไปใช้บุหรี่ที่มีราคาถูกกว่าได้ เช่น จากที่บุหรี่ที่ขายราคา 60 บาทหรือต่ำกว่า คิดอัตราภาษีร้อยละ 20 ตามมูลค่า และบุหรี่ที่ขายอัตราเกินซองละ 60 บาท อัตราภาษีร้อยละ 40 ควรจะเป็นอัตราเดียวที่ร้อยละ 40 ของบุหรี่ทุกราคา

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ปอดเป็นอวัยวะที่ได้รับสารพิษจากควันบุหรี่มากที่สุด ทำให้ปอดได้รับอันตรายมากที่สุด ซึ่งจากข้อมูลปี พ.ศ. 2560 วิเคราะห์โดยภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบคนไทยเสียชีวิตจากบุหรี่รวม 72,656 คน โดยร้อยละ 49 เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ คือ เป็นมะเร็งปอด 13,727 คน ถุงลมปอดพอง 10,852 คน โรคปอดอักเสบและวัณโรคปอด 10,833 คน รวมเท่ากับ 35,412 คน ซึ่งหากรวมจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองปีละ 8,278 คน ที่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคปอดแล้ว จะรวมเป็นคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 4 หมื่นคน ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่โดยเร็วที่สุดจะลดโอกาสที่จะเกิดโรคเหล่านี้