กูรูเตือนเกิดภาวะฟองสบู่แตกตลาดรถไฟฟ้าจีน

กูรูเตือนเกิดภาวะฟองสบู่แตกตลาดรถไฟฟ้าจีน

บรรดาค่ายรถยนต์ชั้นนำในจีนออกมาเตือนรอบใหม่ว่า ตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าทั้งคันของจีนที่ปัจจุบันมีผู้เล่นเกือบ500 ราย กลายเป็นตลาดที่แออัด และเริ่มจะมีสภาพไม่ต่างจากยุคเกิดฟองสบู่ของบริษัทดอทคอมทั้งหลายที่ท้ายที่สุดฟองสบู่ก็แตก

มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างระหว่างตลาดรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ของจีนในวันนี้กับช่วงฟองสบู่แตกเมื่อ20ปีที่แล้ว เมื่อบริษัททั้งหลายพยายามที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเรื่องนี้เหลียน ฉิงเฟิง รองประธานบริหารบริษัทปักกิ่ง อิเล็กทริก วิฮีเคิล โค มองว่า สตาร์ทอัพที่มีอยู่ตอนนี้ประมาณ80% อาจจะหายไปเพราะจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงปีหรือสองปีนี้แน่นอน

หลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าอย่างเต็มที่และพยายามให้ทุนอย่างไม่อั้นเพื่อทำให้จีนเป็นแหล่งน่าลงทุนที่สุดในสายตาผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าและล่าสุด อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัทเทสลา ก็เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดรถยนต์ใหญ่สุดของโลก แต่ขณะนี้ รัฐบาลปักกิ่ง เริ่มลดการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าลงเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเกือบ 500 แห่งจะเหลือเพียงไม่กี่สิบแห่งเท่านั้น เพราะไม่สามารถอยู่ได้ เนื่องจากธุรกิจไม่ได้ให้ผลกำไรตามที่คาด

“ผู้ผลิตรถยนต์บางแห่งอาจต้องปิดกิจการภายในปี 2564 เพราะขาดเงินทุน ไม่ก็ล้มเหลวในการต่อสายป่านให้ยาวไกลขึ้น แต่ภาวะดิ้นรนที่เกิดขึ้นจะทำให้ผู้อยู่รอดคือผู้นำที่แท้จริงในธุรกิจนี้ ”นายเหลียน กล่าว พร้อมระบุว่า บีเจอีวี คือหนึ่งในกลุ่มบริษัทผลิตรถไฟฟ้าที่จะยืนหยัดในอุตสาหกรรมนี้จนเหลือรายสุดท้ายเพราะแรงกดดันที่บริษัทกำลังแบกรับอยู่ในขณะนี้เป็นสิ่งที่บริษัทยังสามารถรับได้

 ทั้งนี้ บีเจอีวี เป็นหน่วยงานในเครือของปักกิ่ง ออโตโมทีฟ กรุ๊ป โค หรือ บีเอไอซี บริษัทผลิตรถยนต์ของรัฐบาลที่ผลิตรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ และผลิตรถยนต์ให้ฮุนไดในประเทศจีน รวมทั้งผลิตรถอีวีขนาดเล็ก บีเอไอซี เป็นเจ้าตลาดรถยนต์นั่งโดยสารอีวีมาสองปีติดต่อกัน โดยยอดขายเมื่อปี 2561 มีสัดส่วนประมาณ 19% และถ้าไม่นับรถขนาดเล็ก บริษัทอยู่อันดับ2ของจากบริษัทบีวายดี โค ที่ได้รับการสนับสนุนจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ 

หลังจากมีเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์หลั่งไหลเข้าไปอุตสาหกรรมรถยนต์จีน บลูมเบิร์กเอ็นอีเอฟ ประมาณการณ์ว่าเฉพาะปีที่แล้วเพียงปีเดียว สตาร์ทอัพทั้งหลายในอุตสาหกรรมรถยนต์ระดมทุนได้เกือบ 8 พันล้านดอลลาร์ และมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแค่ 20-30 รายเท่านั้นที่อาจจะอยู่รอด โดยนับจนถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้ผลิตรถยนต์อีวี 486 รายจดทะเบียนกับทางการจีน เป็นจำนวนมากกว่าช่วง2ปีก่อนถึงกว่า3เท่าตัว

การสนับสนุนของรัฐบาลจีน เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในจีน โดยรัฐบาลปักกิ่งตั้งเป้าเพิ่มจุดชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ให้ได้ 600,000 แห่ง ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้จุดชาร์จแบตเตอรีรถยนต์ทั่วประเทศของจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านแห่งภายในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าการใช้รถยนต์ไฟฟ้าช่วยแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศได้แบบระยะยาวประกอบกับจีน ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตของโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่

เว็บไซต์สำนักข่าวซินหัว ระบุว่า จีนเป็นตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 61.7% และในจีนมีรถอีวีวิ่งอยู่บนถนน 402,000 คัน อีกทั้งภายปี 2573 รัฐบาลจีนตั้งเป้าว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนในประเทศ 5 ล้านคัน

ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์จากหลายสำนักแสดงความวิตกกังวลว่า จะเกิดภาวะฟองสบู่แตกในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีรถหลายแบรนด์เกิดขึ้น และมีกำลังการผลิตมากขึ้น แต่ในปี 2561ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ที่รวมทั้งแบบแบตเตอรี่, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ไฮบริด และฟิวเซล มีสัดส่วนแค่ 4% ของยอดขายโดยรวมที่มีจำนวนกว่า 23.7 ล้านคัน

สาเหตุที่ปี 2561 ยอดขายรถยนต์อีวีในจีนทะลุ 1 ล้านคันเป็นครั้งแรกเพราะการอุดหนุนราคารถยนต์อีวีของรัฐบาล หากไม่ได้แรงหนุนจากรัฐบาล ยอดขายรถอีวีคงไม่สูงขนาดนั้น เพราะความต้องการซื้อรถยนต์อีวีจริง ๆ ในตลาดจีนยังไม่สูงพอ