จี้เอกชน-รัฐเลิก หนุนปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวลดหมอกควันเหนือ

จี้เอกชน-รัฐเลิก หนุนปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวลดหมอกควันเหนือ

"ไบโอไทย" จี้ภาคเอกชน-รัฐต้องกล้าประกาศไม่สนับสนุน “ข้าวโพดเชิงเดี่ยว” ส่งเสริม “เกษตรผสมผสาน”ยั่งยืน ลดต้นตอเผาพื้นที่ก่อหมอกควัน เผย 90 %ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดฝั่งเพื่อนบ้าน รับเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากบริษัทใหญ่ในไทย

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BIOTHAI) กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาเป็นหลักนั้น แยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.เกิดจาการผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีพืชไร่สำคัญที่ปลูกบนพื้นที่สูงแล้วไม่สามารถควบคุมศัตรูพืชได้ด้วยวิธีการอื่น นอกจากการเผา คือ ข้าวโพด เช่นเดียวกับการปลูกอ้อยในพื้นที่ภาคกลาง และที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการส่งเสริมขยายการปลูกข้าวโพดและอ้อยมากขึ้น แต่ปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือมีความซับซ้อน เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของประเทศไทยก็มีการปลูกโดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมจากบริษัทของไทยถึง 90 % และ2.การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่จะจัดการกับปัญหา ซึ่งในปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ปัญหาหายไปมาก เช่นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่มีคณะกรรมการประชาชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในการจัดการป้องกันปัญหา แต่เมื่อมีการรวบอำนาจมากขึ้นปัญหาก็กลับมามากขึ้นอย่างที่เห็น

“บริษัทเอกชนบางแห่งบางพื้นที่เริ่มเข้ามามีบทบาทส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเรื่องนี้บ้าง แต่ตอนนี้เป็นปัญหาแบบไร้พรมแดนเพราะในต่างประเทศที่พื้นที่ติดกับไทยก็ยังดำเนินการอยู่ การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่จัดการไม่ให้เผาเพื่อทำไร่ข้าวโพด แต่จะต้องเป็นการเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร โดยภาคเอกชนและรัฐบาลต้องประกาศสนับสนุนเกษตรผสมผสานอย่างยั่งยืน และไม่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยว ซึ่งมีวิธีการทำได้มากมาย ทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์มีผลผลิตมากขึ้นด้วย ไม่ทำแบบนี้ก็แก้ปัญหายั่งยืนได้ยาก เพราะตอนนี้เหมือนเราขยิบตาไว้ข้างหนึ่ง โดยหนึ่งข้างเหมือนจัดการแก้ปัญหา แต่อีกข้างกลับไม่แก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรบนที่สูงเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน” นายวิฑูรย์กล่าว

อนึ่ง เมื่อ 4 ปีก่อนไบโอไทยเคยเผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กเพจ BIOTHAI ระบุข้อมูลส่วนหนึ่งว่า ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษเมื่อปี 2557 ที่บอกว่าไฟป่า 59% เกิดจากการเผาป่า ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อมูล เพราะพื้นที่ไฟป่าในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่มีปัญหาหมอกควัน มีพื้นที่รวมกันเพียง 10,744 ไร่เท่านั้น (ตัวเลขที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรี) ดังนั้นสัดส่วนไฟป่าหากเกิดขึ้นจากการหาของป่าของราษฎร ก็จะมีสัดส่วนประมาณ 6,339 ไร่เท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.2% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดในเขตป่าอย่าบิดเบือน ไม่รับผิดชอบปัญหาที่มีต้นตอมาจากบริษัทผลิตอาหารสัตว์/ขายเมล็ดพันธุ์ แล้วโยนความผิดให้กับราษฎรที่เก็บเห็ดเก็บผักหวาน