ลูกหนี้กระอักยืม4ล้าน ใช้คืน10ล้าน ปคบ.จ่อลงดาบเจ้าหนี้

ลูกหนี้กระอักยืม4ล้าน ใช้คืน10ล้าน ปคบ.จ่อลงดาบเจ้าหนี้

ตร.คุ้มครองผู้บริโภคลงพื้นที่ หลังลูกหนี้อีสาน3จังหวัด เดือดร้อนกว่า 1,000 ราย บางรายกระอักยืม 4 ล้าน ต้องใช้คืน 10 ล้าน ชี้พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา จัดการนายทุนไม่ได้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 ก.ย. 60 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการ กก. 2 บก.ปคบ. ได้เดินทางมาติดตามกลุ่มลูกหนี้นอกระบบในพื้นที่ภาคอีสานที่ได้เดินทางมาร้องเรียนขอความช่วยเหลือเรื่องการประนอมหนี้กับสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับลูกหนี้ที่เดินทางมาให้ข้อมูลครั้งนี้ เป็นชาวบ้านจากจ.ขอนแก่น เลย และอุดรธานี ที่ได้รับความเดือดร้อน

จากการสอบถามนายสมหมาย ประเสริฐกุล ลูกหนี้ชาวอุดรธานี เจ้าของร้านวงเดือนผ้าไทย อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่า เดิมครอบครัวทำกิจการค้าผ้าไหมโบราณ ในช่วงปี 2536-2537 การค้าผ้าไหมเฟื่องฟู ทำให้ครอบครัวต้องการขยายกิจการเพิ่มมากขึ้น จึงตัดสินใจกู้เงินในระบบและกู้เงินนอกระบบจากนายทุนรายหนึ่งด้วย สำหรับการกู้ยืมนอกระบบนั้น เริ่มจากกู้ยืมกันเองจำนวน 2 ล้าน ทำสัญญา 1 ล้าน ไม่ได้ทำสัญญา 1 ล้าน ต่อมายืมเพิ่มอีก 5 แสนบาทไม่ทำสัญญา รวมทั้งเป็นหนี้ผ้าไหมเก่า 2 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4.5 ล้านบาท จากนั้นได้จ่ายเช็คล่วงหน้า และชำระหนี้ผ่านบัญชีด้วย

กระทั่งปี 2549 สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้นายทุนเงินกู้รวบรวมเช็คทั้งหมดกว่า 200 ฉบับ รวมเงินต้น 4.5 ล้านบาท เมื่อรวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 6.6 ล้านบาท ให้ไปรับสภาพที่ศาล จากนั้นได้ไปทำสัญญาที่ศาลว่าต้องจ่ายคืนเงินอย่างน้อยเดือนละ 3 หมื่นบาท แต่จากที่เศรษฐกิจมีสภาพซบเซา ทำให้ไม่สามารถจ่ายได้ตามข้อตกลง ทำให้นายทุนดำเนินการยึดบ้านที่ดินที่กรุงเทพ ยึดบ้านและที่นา ใน จ.อุดรธานี ขายทอดตลาด

“ที่ผ่านมาได้มีการไกล่เกลี่ยหนี้สินมาตลอด จากคำสั่งศาลตกลงใช้หนี้กันที่ 6.6 ล้านบาท แต่เมื่อเราจ่ายไม่ได้ตามสัญญานายทุนจึงรวมดอกเบี้ยเข้ามาอีก จนมาตกลงใช้หนี้กันที่ 7 ล้านบาท ในระยะนั้นมีความจำเป็นต้องขายที่ดิน เมื่อนายทุนรู้ก็ขอเพิ่มหนี้มาอีกเป็น 10 ล้านบาท ซึ่งเราก็ยอม ทำสัญญาจ่าย เริ่มที่ 7.3 ล้าน เราจะเหลือเงินที่ต้องใช้คืนอีก 2.7 ล้านบาท ทำสัญญาจ่าย 2 ปี เดือนละกว่า 2 หมื่นบาท ซึ่งจ่ายมาโดยตลอด กระทั่งเหลือ 2-3 เดือน นายทุนบอกว่าให้ปิดบัญชีทั้งหมดที่เหลืออยู่อีกกว่า 1 ล้านบาท แต่เราก็ไม่สามารถจ่ายได้ นายทุนได้ยึดทรัพย์สิน เป็นที่ดิน 19 แปลง มูลค่าที่ประเมินโดยสำนักงานที่ดินกว่า 51 ล้านบาท คิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเราใช้หนี้เขามาโดยตลอด แต่กลับถูกเอาเปรียบ จึงได้ร้องเรียนทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรมให้ช่วยเหลือ” นายสมหมาย กล่าว

แหล่งข่าว กล่าวว่า การรับเรื่องของลูกนี้นอกระบบในภาคอีสานในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากชาวบ้านได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กับสถานีตำรวจในท้องที่แล้ว และมีเรื่องการกู้ยืมมานแล้วแต่กลับพบว่าคดีไม่มีความคืบหน้า สำหรับชาวบ้านที่เดินทางมาให้ข้อมูล พบว่าเข้าข่ายการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และมีการทวงหนี้ข่มขู่ ส่วนที่กฎหมายยังไม่สามารถเอาผิดนายทุนได้นั้น เนื่องจากนายทุนเป็นผู้มีอิทธิพล เมื่อลูกหนี้ไปแจ้งความ คดีจึงไม่มีความคืบหน้า และลูกหนี้หวาดกลัวอิทธิพล

“จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ภาครัฐระบุว่า เจ้าหนี้รู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่จึงทำให้การร้องเรียนจากผู้เสียหายเงียบ ไม่มีการดำเนินคดี นอกจากนี้เจ้าหนี้มีทนายที่อาศัยช่องวางทางกฎหมาย สำหรับพื้นที่ภาคอีสานพบว่าผู้เสียหายหลายรายนำเงินไปชดใช้ เช่น การขายฝาก ชาวบ้านจะเอาเงินไปขอไถ่ถอน เมื่อถึงเวลาครบกำหนดชดใช้ ไถ่ถอน เหลือระยะเวลา2 – 3วัน จะครบกำหนด ทางเจ้าหนี้จะไม่รับชำระหนี้ พอไม่รับชำระหนี้ เวลาก็จะข้ามไปจนเลยกำหนด เมื่อเลยเวลาที่ทางเจ้าหนี้และลูกหนี้ทำสัญญาขายฝากกันไว้แล้ว ที่ดินก็จะตกเป็นของเจ้าหนี้ตามสัญญาขายฝากทันที ซึ่งชาวบ้านไม่มีความรู้ในเรื่องของกฎหมายจะสูญเสียที่ดินทันที” แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับในจังหวัดขอนแก่น พบว่า ใน 3 อำเภอคือ กระนวน พล และชุมแพ มีชาวบ้านเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุด แต่กลับพบว่า ไม่สามารถเอาผิดนายทุนได้ ถึงแม้จะมีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราแล้วก็ตาม สำหรับแนวทางการเอาผิดเจ้าหนี้นอกระบบ ให้พิจารณาว่าเจ้าหนี้เข้าข่ายผู้มีอิทธิพลหรือไม่ หากใช้ให้ชาวบ้านร้องเรียนกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนกลาง ซึ่งสามารถพิจารณาได้หลายเรื่อง ทั้งการกู้ยืมเป็นการฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายให้แจ้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งสามารถยึดทรัพย์เจ้าหนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพลตามคำสั่ง คสช.ที่มีเรื่องในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา สามารถแจ้งเรื่องกับทหารในพื้นที่ ซึ่งจะได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือทันที