สบทช.6 ชี้อุณภูมิ ความชื้น ทำไข่เต่าตนุ87ฟองฟักแค่1ตัว

สบทช.6 ชี้อุณภูมิ ความชื้น ทำไข่เต่าตนุ87ฟองฟักแค่1ตัว

สบทช.6 ชี้ปัญหาอุณภูมิ-ความชื้น สาเหตุไข่เต่าตนุ 87 ฟอง ฟังได้แค่ 1 ตัว หมดหวังเห็นเต่าเกาะราชาฟักออกเป็นตัวเพิ่มเติม พบหยุดการเจริญเติบโตตั้งแต่ช่วง 10 วันแรก

หลังจากเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สบทช.6) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ประจำเกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากพนักงานของโรงแรมเดอะราชา ว่า พบรอยเท้าเต่าทะเลขนาดใหญ่ สงสัยว่าจะขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดปะตก เกาะราชา ตรวจสอบพบการขุดหลุมทรายวางไข่ไว้บริเวณชายหาดริมกำแพงกันคลื่นของโรงแรมฯ จากนั้นได้ประสานกับเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อทำการย้ายไข่เต่าไปยังที่เหมาะสมและปลอดภัย เนื่องจากจุดที่แม่เต่าวางไข่ไว้นั้นน้ำทะเลท่วมถึงและมีคนพลุกพล่าน จะกระทบกับการฟักตัว รวมทั้งจะทำให่สามารถดูแลได้สะดวกด้วย

เมื่อตรวจสอบไข่เต่าซึ่งทราบภายหลังว่าเป็น “เต่าตนุ” ที่อยู่ในหลุมทรายมีจำนวนทั้งสิ้น 94 ฟอง แต่แตกไป 7 ฟอง คงเหลือไข่เต่าเพียง 87 ฟอง โดยทางชมรมอนุรักษ์และป้องกันตนเอง เกาะราชาใหญ่ ได้ขอให้ทำการเพาะฟักไว้บนเกาะ กระทั่งวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา พบมีลูกเต่าฟักออกมาจากไข่ 1 ตัว สร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก เพราะต่างรอคอยด้วยความหวัง เพราะเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ไม่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บนเกาะ และรอลูกเต่าที่เหลือฟักออกมา แต่ก็ต้องผิดหวัง เมื่อระยะเวลาผ่านไป 4 วัน ก็ไม่มีทีท่าว่า ลูกเต่าจะฟักออกมาเพิ่มเติม ทางเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ จึงตัดสินใจลงพื้นที่ตรวจสอบไข่เต่าดังกล่าว ซึ่งพบว่า ไข่เต่าที่เหลือ 86 ฟองไม่มีการฟักตัวออกมา แม้ว่าไข่ทั้งหมดจะได้รับการปฎิสนธิแล้ว และมีการพัฒนามาได้ระยะหนึ่ง โดยพบไข่เต่าตนุจำนวน 2 ฟอง มีจุดสีแดง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการพัฒนาระบบเลือดมาเป็นเวลาประมาณ 10 วัน ส่วนไข่เต่าตนุที่เหลือหยุดการพัฒนาก่อน 10 วัน ทำให้ไข่เต่าดังกล่าวไม่ฟักออกมาเป็นตัว

จากข้อสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ฯ กรณีที่ไข่เต่าหยุดการพัฒนา พบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ความชื้น อุณหภูมิ จุลินทรีย์ในทราย เป็นต้น ประกอบกับในช่วงที่เพาะฟักเป็นฤดูมรสุมของภูเก็ต มีทั้งฝนตกหนัก และแดดแรงสลับกันไป ทำให้อุณหภูมิปรับเปลี่ยนอยู่เกือบตลอดเวลา และเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะฟักไข่เต่า และถือว่าเป็นอัตราการฟักตัวที่ค่อนข้างต่ำของไข่เต่าหลุมนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในปัจจุบันอัตราการฟักตัวของเต่าทะเลก็มีน้อยอยู่แล้ว และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่แม้กระทั่งการเพาะฟักในธรรมชาติ เช่น แหล่งวางไข่เต่าทะเลที่เกาะสุรินทร์ พบว่าในปี 2552 มีเต่าขึ้นมาวางไข่จำนวน 5 รัง มีอัตราการฟัก 0%,เกาะพระทอง ในปี 2558 มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จำนวน 3 รัง มีอัตราการฟัก 0%,เกาะสิมิลัน ปี 2558 มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จำนวน 29 รัง มีอัตราการฟัก 0%,ส่วนฝั่งทะเลอ่าวไทย ได้แก่ เกาะคราม จังหวัดชลบุรี ปี 2559 มีเต่าขึ้นวางไข่ จำนวน 137 รัง มีอัตราการฟัก 0% ซึ่งทั้งหมดไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า

ปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการฟักต่ำมาจากสาเหตุใด แต่ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ถ้าความชื้นในทรายน้อยเกินไปทำให้อุณหภูมิในหลุมเพาะฟักสูงทำให้ไข่หยุดการพัฒนาได้ (อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียสทำให้ไข่เต่าหยุดการพัฒนา) หรือช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกชุกมากเกินไปทำให้ความชื้นในหลุมเต่ามากอุณหภูมิในการเพาะฟักต่ำ (อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสทำให้ไข่เต่าหยุดการพัฒนา) ส่วนสาเหตุจากการเคลื่อนย้ายไข่เต่าตนุครั้งนี้เนื่องจากสภาพชายหาดในธรรมชาติไม่เหมาะสมเพราะชายหาดมีกำแพงแนวกันคลื่นปิดกันดังนั้นทำให้ต้องย้ายไข่เต่าทั้งหมดมาเพาะฟักในพื้นที่ไม่โดยน้ำทะเลท่วมถึงและมีเจ้าหน้าที่ดูแลได้ทั่วถึง

ส่วนของลูกเต่าตนุที่ฟักออกมา 1 ตัว ก่อนหน้านี้ ทางเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ รับมาดูแลที่บ่ออนุบาลลูกเต่าทะเล จนถึงขณะนี้มีอายุได้ 8 วัน แต่ยังไม่มีการให้อาหาร เนื่องจากยังมีไข่แดงหน้าท้องซึ่งเป็นอาหารเลี้ยงตัวเองในระยะนี้ ส่วนสุขภาพทั่วไป พบว่า ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ว่ายน้ำได้ โดยเจ้าหน้าที่ฯ จะเริ่มให้อาหารหลังจากอายุครบ 10 วัน เบื้องต้นได้ตั้งชื่อ ว่า “เจ้าบุญรอด” ขณะที่หนึ่งในสมาชิกของชมรมอนุรักษ์เกาะราชาตั้งชื่อว่า “เจ้าโทน” เนื่องจากมีชีวิตรอดและฟักออกมาจากไข่ได้เพียงตัวเดียวจากไข่ที่นำไปเพาะฟักทั้งหมด 87 ฟอง และในการดูแลนั้นทางเจ้าหน้าที่ฯ ได้แยกบ่อเลี้ยงออกมาต่างหาก เนื่องจากเป็นลูกเต่าที่มีขนาดเล็กที่สุดที่มีอยู่ในบ่ออนุบาลขณะนี้