กรมชลฯ เตรียมรับมือน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยา

กรมชลฯ เตรียมรับมือน้ำหลากลุ่มน้ำเจ้าพระยา

"กรมชลประทาน" เตรียมรับมือฝนตกช่วง ก.ย. - ต.ค. คาดกลางเดือนนี้พื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างจะเก็บเกี่ยวเสร็จ พร้อมใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคมของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ต้นฤดูฝนที่ผ่านมา โดยการปรับปฏิทินการส่งน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ 265,000 ไร่ ให้ทำนาปีเร็วขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก และสามารถรับน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งได้แล้วกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ยังปรับปฏิทินการส่งน้ำทำนาปีเร็วขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท – ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางบาล ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 1.15 ล้านไร่ เริ่มส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ปัจจุบันเพาะปลูก 953,706 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของพื้นที่เป้าหมาย เก็บเกี่ยวแล้ว 687,551 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จทั้งหมดภายในกลางเดือนกันยายนนี้ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเสร็จจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้ตัดยอดปริมาณน้ำหลากสูงสุดบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปุทมธานี นนทบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย โดยพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่ง สามารถรองรับปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,500 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก ประกอบด้วย พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาช่องแค และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามหาราช รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 38,000 ไร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่างตามเป้าหมายการปรับปฏิทินการเพาะปลูกเร็วขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จหมดแล้ว สามารถใช้ทุ่งดังกล่าวเก็บกักน้ำเพื่อชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนทุ่งผักไห่ หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายการปรับปฏิทินการเพาะปลูกเร็วขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง มีพื้นที่ทั้งหมด 145,278 ไร่ และมีการเพาะปลูกเต็มที่ ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 114,578 ไร่ หรือร้อยละ 79 ของพื้นที่เพาะปลูก ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทำการเก็บเกี่ยวเสร็จทั้งหมดภายในกลางเดือนกันยายนนี้ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จจะนำพื้นที่ทุ่งผักไห่เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำ เพื่อตัดยอดปริมาณน้ำสูงสุดบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 200 ล้าน ลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ตอนล่างได้เป็นอย่างมาก