ลาวร่วมลงทุนแชร์ลูกหม่อนเสียหาย 122 ล.

ลาวร่วมลงทุนแชร์ลูกหม่อนเสียหาย 122 ล.

ร้องดีเอสไอ สอบบริษัทดัง หลอกร่วมลงทุนปลูกมัลเบอรี่ รับประกันราคาซื้อ ชวนลงทุนเทรดหุ้น ผู้เสียหายทั้งไทย-ลาวหลงเชื่อร่วมทุนนับ 1,000 ราย วงเงินเสียหาย 122 ล้าน

นายสมัย ธิวันดา ชาวอุบลราชธานี ผู้เสียหายถูกบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง หลอกลงทุนปลูกพืชมัลเบอรี่ หรือ ลูกหม่อน โดยประกันราคารับซื้อผลผลิต พร้อมเชิญชวนเกษตรกรมาร่วมลงทุนธุรกิจเทรดหุ้นภายใต้การบริหารของบริษัทเดียวกัน และจะได้รับเงินปันผลทุกเดือน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง ยื่นหนังสือถึงพ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารคดีพิเศษ ดีเอสไอ เพื่อขอให้รับเรื่องดังกล่าว เป็นคดีพิเศษ และขอให้คุ้มครองพยานที่ถูกข่มขู่ด้วย

นายสมัย กล่าวว่า เมื่อเดือนกรกฏาคม ปี 2559 บริษัทดังกล่าวได้ชักชวนให้ชาวเกษตรปลูกผลมัลเบอร์รี่ โดยมีค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการ 38,000 บาท จากนั้นบริษัทจะให้ต้นกล้าจำนวนหนึ่งนำไปปลูกเป็นเวลา 1 ปี เมื่อได้ผลผลิตทางบริษัทจะรับซื้อ โดยมีสัญญาการประกันราคาชัดเจน และหากชักชวนคนให้มาลงทุนต่อจะได้ส่วนแบ่ง 10% และหากร่วมลงทุนเป็นเงิน หุ้นละ 38,000 บาท จะได้เงินปันผล 12,000 บาทต่อเดือน ทำให้ประชาชนหลงเชื่อลงทุนจำนวนหลายหุ้น ตนก็ถูกผู้เสียหายรายอื่นชักชวนให้ร่วมลงทุนเมื่อเดือน มิ.ย. พ.ศ. 2559 โดยครั้งแรกร่วมทุนเป็นเงิน 38,000 บาท และได้ผลตอบแทนมาเรื่อยๆ จึงนำเงินไปลงทุนเพิ่มเป็น 250,000 บาท จนกระทั่งต้นเดือน ต.ค.59 ตนก็ไม่ได้รับเงินจากทางบริษัทและไม่สามารถติดต่อทางบริษัทได้อีกเลย และมีผู้เสียหายยังไม่เคยได้รับผลตอบแทน ขณะนี้มีผู้เสียหายคนไทย 1,800 คน และชาวลาวอีก 40 คน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 122 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทยังเปิดดำเนินธุรกิจอยู่

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว โดยมอบหมายให้สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ไปตรวจสอบว่าคดีดังกล่าวเข้าเงื่อนไขรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ เบื้องต้นทราบว่า ขณะนี้มีผู้เสียหายมาร้องเรียนแล้วกว่า 100 ราย ส่วนจะต้องเรียกผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว เข้ามาสอบปากคำหรือไม่ ตนคิดว่าทางสำนักคดีอาญาพิเศษ 1 คงจะต้องดำเนินการเรียกมาให้ข้อมูลตามขั้นตอนการสอบสวน ส่วนกรณีที่มีการถูกข่มขู่นั้น ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถแจ้งความต่อตำรวจในพื้นที่เพื่อขอให้คุ้มครองพยานได้ก่อน ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีกรณีหลอกลวงแชร์ลูกโซ่หลายคดี หากปล่อยไปจะมีประชาชนตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่ดีกว่าการปราบปรามคือการป้องกัน ดีเอสไอจึงพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบพฤติการณ์ว่าการลงทุนที่มีผู้มาชักชวนเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ซึ่งธุรกิจแชร์ลูกโซ่ แตกต่างจากธุรกิจขายตรงที่ค่าสมัครจะมีราคาสูง และไม่มีสินค้าหรือสินค้าไม่ได้มาตรฐาน สำหรับแอพพลิเคชั่นดังกล่าว สามารถโหลดได้ทางระบบ IOS ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาให้สามารถใช้ได้ในระบบเอนดรอย