วัยมันส์ คนพันธุ์ BMX

วัยมันส์ คนพันธุ์ BMX

เหมือนกับเป็นรักแรกพบ จักรยาน BMX สำหรับมนุษย์สายพันธุ์นี้มีแต่ต้องเอ็กซ์ตรีมเท่านั้น

ถ้าพูดถึงกีฬาลูกผู้ชาย หลายๆ ท่านจะคิดถึงกีฬาใดบ้าง ? เราได้ใช้เวลาช่วงบ่ายของสุดสัปดาห์ไปกับการชมกีฬาลูกผู้ชายชนิดหนึ่ง ที่ในคราแรก คิดว่าจะไม่สนุก แต่แล้วก็ผิดคาด เพราะนั่งดูไป ลุ้นไป จนเผลอมองไม่วางตาเลยเชียว

กีฬาลูกผู้ชายที่พูดถึงนี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกเสียจาก... จักรยานผาดโผน หรือจักรยานBMX

ความรักคือจุดเริ่มต้น

เมื่อก้าวเข้ามาในงาน Bangkok Dangerous BMX Street Jam 2016 การแข่งขันจักรยานผาดโผนที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยในพ.ศ.นี้ โดยปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ สมาคมกีฬาเอ็กซ์ตรีมแห่งประเทศไทย สนามราชมังคลากีฬาสถาน ก็ได้สัมผัสถึงประกายความมุ่งมั่นของเหล่าไรเดอร์มือสมัครเล่นและมืออาชีพ ที่แสดงท่วงท่าลีลาของตัวเองบน BMX ออกมาให้ยากที่สุด ดีที่สุด

เมื่อได้คุยกับ กอล์ฟ - สราวุธ บรรยงกะเสนา หนึ่งในผู้จัดงาน ก็ไขข้อสงสัยว่าอะไรทำให้กลุ่มคนทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มารวมตัวกันในงานนี้ได้มากขนาดนี้

"จุดเริ่มต้นของงานนี้เกิดจากการนัดเพื่อนมาปั่นเล่นกัน เพื่อนที่รัก BMX เหมือนกัน หลายคนก็ให้การตอบรับดี ผมเลยคุยกับพี่ชายว่า เราลองทำเป็นงานแข่งดูไหม พี่ชายก็เห็นด้วย พอทำปุ๊บผลตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ จนจัดปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วครับ

"ถ้าพูดถึงจุดเริ่มของการปั่นจักรยาน BMX ของผม เริ่มมาจากพี่ชายครับ ผมเป็นคนติดพี่ชายมาก แล้วพี่ชายก็ได้ไปรู้จักกับคนที่เล่นจักรยานประเภทนี้ เขาก็ออกไปเล่นอยู่กับเพื่อนของเขานั่นแหละ เราก็ขอไปเล่นด้วย แล้วก็พัฒนาไปเรื่อยจนชอบ กลายเป็นสิ่งเสพติดชนิดที่ว่าเลิกไม่ได้ ต้องเล่นทุกวัน ยิ่งทำได้ท่าใหม่ๆ เลิกเรียนปุ๊บต้องไปซ้อม จะไม่ยุ่งกับใคร จะไม่อะไรเลย รักกีฬาประเภทนี้มาก เลิกไม่ได้ มั่นใจว่าหลายๆ คนก็เลิกไม่ได้เหมือนกัน" สราวุธกล่าวก่อนขอตัวไปลงแข่งในสนาม  

เมื่อลองถาม เป้ - ยิ่งยศ โยวะผุย วิศวกรผู้เป็นไรเดอร์มือเก๋า ดีกรีนักแข่ง BMX เมื่อ 30 ปีก่อน ถึงจุดเริ่มต้นการปั่น BMX ยิ่งยศกล่าวไว้ว่า BMX เปรียบเสมือนรักแรกพบ "ถ้าเปรียบมันเหมือนรักแรกพบล่ะมั้ง เริ่มเห็นประมาณ 9 ขวบ อยากได้ตั้งแต่เด็กแล้ว แต่บ้านไม่ค่อยมีเงิน จนกระทั่งช่วงม.3 แม่ซื้อให้คันแรก คิดไว้ก่อนแล้วว่ามี BMX เมื่อไหร่ต้องเล่นท่า เพราะชอบความผาดโผน ชอบอะไรที่ท้าทายอยู่แล้ว"

BMX Street Jam สนามเด็ก (ไม่) เล่น

เสียงเชียร์ของโฆษก ตั้ม - สมชาติ บรรยงกะเสนา ผู้เป็นพี่ชายของสราวุธและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งการแข่งนี้ กระหึ่มกึกก้องไปทั่วทั้งสนาม ทำให้การแข่งยิ่งดุเดือดมากขึ้น สมเป็นสนามประลอง BMX ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทยใน พ.ศ.นี้  สราวุธภูมิใจในงานนี้มาก และไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้

"เราเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่อยากจะสนองนี้ดของตัวเอง อยากเจอเพื่อน อยากไปงานแข่ง ตั้งแต่เราเรียนจบมาปุ๊บ เราไม่มีโอกาสได้ไปแล้ว เขาจัดกันวันเสาร์ อาทิตย์ เราลางานไม่ได้ เราก็ต้องทำงาน จนมีวันหนึ่งคิดขึ้นมาอยากเจอเพื่อนๆ แล้วพอมีทุน เอ้า...เราลองจัดดู ชักชวนเพื่อนๆ มา ซึ่งผลตอบรับเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เราจึงจัดทุกปี ถ้าปีไหนไม่จัดทุกคนก็เรียกร้อง มันเหมือนเป็นการรวมตัว เป็นวันครอบครัวของคนรัก BMX มากกว่า ไม่ได้เน้นแข่ง แต่เน้นมาเจอเพื่อน เจอสังคมพี่ๆ น้องๆ เพราะเป็นกีฬาที่เราเล่นแล้วมีความสุข ถึงเล่นอยู่กับมันได้เป็นเวลานาน บางคนรักมาก ถึงต้องเล่นแบบเป็นอาชีพเลย"

ไรเดอร์หลายคนที่มาร่วมในงาน Bangkok Dangerous BMX Street 2016 มีทั้งมือสมัครเล่น และมืออาชีพที่เป็นนักกีฬาลงแข่งขันในระดับทีมชาติมาแล้ว ดังเช่น เจมส์ - นพรัตน์ ตรีประชานาถ ไรเดอร์วัย 24 ปี จากสระบุรี ดีกรีรองแชมป์กีฬาแห่งชาติครั้งที่ 44 นครสวรรค์เกมส์ ที่เล่าถึงเส้นทางนักปั่นของเขาให้ฟังว่า

"จุดเริ่มต้นของผมคือ ตอนเด็กผมปั่นจักรยานเล่นกับเพื่อน เป็นจักรยานแม่บ้านธรรมดาครับ ปั่นกับเพื่อนเป็นกลุ่มๆ แล้วก็ไปเจอรุ่นพี่จังหวัดตัวเอง ไปเห็นเขาเล่นก็อยากเล่น เริ่มศึกษา หาที่ซื้อรถ แต่ว่ารถมันราคาสูงเกิน เราก็หาจากโรงเหล็ก ไปหาโครงเหล็กที่เขาขาย เก่าๆ เอามาประกอบเป็น BMX คันนึง เก่าๆ โง่ๆ มาปั่นซ้อม แล้วก็หาอะไหล่เปลี่ยน แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มเติมเงินซื้อขึ้นมาเรื่อยๆ พอรถเราได้ที่ หัดเล่น เราก็เก่งขึ้น จริงจังขึ้น เป็นกิจวัตรประจำวันไปเลยล่ะ ความรู้สึกตอนเล่นก็กลัวครับ แต่พอเรากลัวไม่กล้าเล่น แล้วมาเห็นคนอื่นเขาเล่นได้ เราก็เอากลับมากดดันตัวเอง ทำไมเราจะทำไม่ได้ หัดมาเรื่อยๆ เพิ่มสกิลตัวเองเรื่อยๆ หัดยาวนานมากครับ ก็เล่นจนติดทีมชาติครับ"

วัยมันส์ คนพันธุ์ BMX

ระหว่างอยู่ในงานแข่งขัน สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ BMX เป็นกีฬาของคนทุกเพศ ทุกวัย ยังเห็นผู้ปกครองพาลูกตัวน้อยๆ ไปนั่งชมริมสนาม ส่งเสียงเชียร์เจื้อยแจ้ว บ้างก็ออกมาวาดลวดลายปั่น BMX อยู่ด้านนอกสนาม ความสุขล่องลอยอยู่ในอากาศ ผสมกับไอแห่งพลังของนักแข่งทุกคน ทำให้ไม่อาจละสายตาออกไปจากการปั่นของทุกคนได้เลย สราวุธเล่าว่าปีนี้มีไรเดอร์เข้าร่วมแข่งเยอะมากขึ้น ทำให้มีการจัดแบ่งสายการแข่งขัน เข้ารอบไปเรื่อยๆ จนได้คนที่ชนะเลิศของแต่ละสาย

นอกจากพลังของนักกีฬาในสนาม สิ่งที่อบอวลไปพร้อมกันคือความเป็นครอบครัวของคนรัก BMX รุ่นบุกเบิก มองไปอีกทางก็เห็นคนรุ่นใหม่จ้องท่วงท่าการปั่นด้วยสายตาเป็นประกายก่อนจะหันไปหาคุณพ่อ ซึ่งเราคงไม่ต้องบอกว่าเขาจะได้รถจักรยานคันน้อยที่อยากได้หรือไม่ เพราะการที่คุณพ่อพามาชมการแข่งขันในวันนี้ก็บอกให้รู้เป็นนัยๆ อนาคตเราอาจได้เห็นนักปั่น BMX มืออาชีพคนใหม่ก็เป็นได้