ผู้ใช้แรงงานค้านขึ้นค่าแรง หวั่นราคาสินค้าแพงขึ้น

ผู้ใช้แรงงานค้านขึ้นค่าแรง หวั่นราคาสินค้าแพงขึ้น

กลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่เห็นด้วย ที่รัฐประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รายจังหวัดตั้งแต่ 5 – 10 บาท เชื่อมีผลกระทบทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น

จากที่มติที่ประชุมของคณะกรรมการค่าจ้าง ที่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 เป็นรายจังหวัด 69 จังหวัดทั่วประเทศ โดยปรับเพิ่มจากอัตราค่าจ้างเดิมตั้งแต่ 5 – 10 บาท มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2560 นั้น

สำหรับที่จังหวัดบุรีรัมย์จะได้ปรับขึ้นจากอัตราค่าจ้างเดิม 5 บาท เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 59 กลุ่มผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้าง จ.บุรีรัมย์ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้าง เพราะมองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 5 บาทไม่ได้ส่งผลดีกับแรงงาน แต่กลับจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นมากกว่า เพราะเพียงมีข่าวว่าจะประกาศปรับขึ้นค่าจ้างผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้า เตรียมจะขยับขึ้นราคาสินค้าไว้แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลได้ทบทวนมติดังกล่าว และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการควบคุมราคาสินค้า เพื่อแก้ไขปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นมากกว่า นายพวง กาละสีรัมย์ อายุ 53 ปี ซึ่งทำอาชีพรับเหมางานก่อสร้าง บอกว่า การประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกเพียง 5 บาท ไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเลย หากรัฐบาลไม่ควบคุมราคาสินค้า เพราะปัจจุบันผู้ใช้แรงงานได้ค่าแรงขั้นต่ำเพียงวันละ 300 บาทแต่ค่าครองชีพต่อวันละไม่ต่ำกว่า 200 บาทแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลได้หาแนวทางแก้ปัญหา ค่าครองชีพที่สูงขึ้นให้ปรับลดลงมากกว่า จะขึ้นค่าจ้างเพราะปกติกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็ไม่ได้มีงานทำทุกวัน เหมือนกับพนักงานบริษัทหรือลูกจ้างประจำ และหากเป็นไปได้ก็อยากดูแลเรื่องสวัสดิการ ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ด้วย

นางลำพึง ทองเชิด อายุ 38 ปี แรงงานก่อสร้าง ชาว ต.โคกเหล็ก อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หากจะปรับขึ้นค่าแรงเพียง 5 บาทก็ไม่ต้องปรับขึ้นเลยจะดีกว่า เพราะกลัวว่าหากรัฐประกาศปรับขึ้นค่าจ้าง ผู้ประกอบการก็จะฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าให้แพงขึ้นอีก ซึ่งปัจจุบันก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งค่าเล่าเรียนลูก 3 คน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ไม่ต่ำกว่าวันละ 200 บาทอยู่แล้ว แต่ได้ค่าแรงจากการทำงานก่อสร้างเพียงวันละ 250 บาทแทบจะไม่มีเงินเหลือ แล้วบางวันก็ไม่มีงาน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลได้หาแนวทางปรับลดค่าครองชีพให้ต่ำลง หรือดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แทนการปรับขึ้นค่าแรงมากกว่า เพราะขณะนี้ผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีสวัสดิการอะไรรองรับเลย แต่ต้องทำงานเสี่ยงอันตราย หากเป็นอะไรไปก็จะส่งผลกระทบกับลูกหลานที่อยู่ข้างหลังด้วย