เปิดข้อมูลครอบครัว 'ธัมมชโย' ตอนก่อนเกิดและบวช
"ธรรมกาย" เปิดข้อมูลครอบครัว "ธัมมชโย" ตอนก่อนเกิดและบวช จนถึงที่มาของฉายา "ผู้ชนะโดยธรรม" ลั่นครองผ้ากาสาวพัสตร์ไปตราบสิ้นอายุขัย
เพจเฟซบุ๊ค "สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย" ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพ ระบุว่า ประวัติความเป็นมา "วันธรรมชัย" วันแห่งการประกาศชัยชนะ ของผู้ชนะโดยธรรม
ย้อนไปเมื่อ 48 ปี ที่แล้ว วันที่ 27 สิงหาคม พุทธศักราช 2512 ณ อุโบสถ วัดปากน้ำภาษีเจริญ ปรากฏยอดกัลยาณมิตรท่านหนึ่งได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ บวชอุทิศชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนา ด้วยมโนปณิธานอันสูงส่ง ท่านมุ่งมั่นสั่งสมบุญบารมีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อให้ได้มาซึ่งมหากุศลอันเนื่องด้วย กายมหาบุรุษ ซึ่งเป็นที่สุดแห่งคุณสมบัติ ที่สุดแห่งทรัพย์สมบัติ มุ่งสู่เป้าหมาย คือ ที่สุดแห่งธรรม
วันๆ นั้น คือ วันอุปสมบทของพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) พระผู้เป็นดั่งตะวันธรรมนำความสว่างไสวแก่หมู่ชน
พระเทพญาณมหามุนี มีนามเดิมว่า ไชยบูลย์ สุทธิผล ถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ.2487 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก เวลา 18.00 น. ณ บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ท่านเป็นบุตรของนายช่างใหญ่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม นามว่าจรรยงค์ สุทธิผล กับคุณแม่จุรี สุทธิผล ในวันที่ท่านเกิด ญาติพี่น้องที่เคยโกรธเคืองกัน ไม่ไปมาหาสู่กันเป็นเวลานาน ได้หันหน้ามาคืนดีกัน ด้วยมีความชื่นชมยินดีในวันเกิดของหลานชายคนแรก
การเกิดของท่าน จึงเป็นดั่งศุภนิมิตแห่งความสมานสามัคคี ประดุจน้ำฝนตกลงบนพื้นดินเหนียวที่แตกระแหง แล้วประสานรอยร้าวของเนื้อดินนั้นให้เรียบสนิทเป็นผืนแผ่นดินเดียว
เนื่องจากคุณพ่อมีอาชีพรับราชการ ซึ่งต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการในต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ชีวิตวัยเยาว์ของท่านจึงได้รับการดูแลทั้งจากมารดาและญาติพี่น้อง รวมถึงต้องย้ายที่อยู่เสมอ ๆ ต่อมาคุณพ่อได้คำนึงถึงอนาคตด้านการศึกษาจึงได้ฝากบุตรชายไว้กับครูบา อาจารย์ในโรงเรียนประจำชื่อโรงเรียนตะละภัฎศึกษา แถวเสาชิงช้า ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ในปี พ.ศ.2493 คุณพ่อได้รับคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเพชรบุรี ท่านจึงจำเป็นต้องลาจากเจ้าของโรงเรียนผู้มีพระคุณ เพราะคุณพ่อได้มารับไปอยู่ด้วย และได้เข้าเรียนในโรงเรียนอรุณประดิษฐ์ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 อยู่กับคุณพ่อได้ปีเศษ ก็ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนสารสิทธิพิทยาลัย ในอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยคุณพ่อพาไปฝากไว้กับคุณครูสมาน แสงอรุณ ซึ่งเป็นครูที่ใจดีและมีจิตใจโอบอ้อมอารี ท่านเรียนอยู่ ณ ที่แห่งนี้จนจบชั้นมัธยมปีที่ 3
ขณะที่มีอายุได้ 13 ขวบ ท่านสามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ 4 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ได้เป็นผลสำเร็จ โดยสอบติด 1 ใน 150 คน จากผู้สมัครกว่า 500 คน วิถีชีวิตที่ต้องดูแลตัวเองตามลำพัง ต้องรู้จักประหยัด อดออม เช่นนี้ จึงหล่อหลอมให้ท่านมีความเข้มแข็งอดทน มีความเชื่อมั่นและรับผิดชอบตนเองสูง แตกต่างจากเด็กชายที่เติบโตจากครอบครัวที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ทั่วไป
เนื่องจากท่านเป็นคนรักการอ่าน แต่ไม่มีเงินที่จะซื้อหนังสือเก็บไว้เป็นของตนเอง ท่านจึงหาเวลาว่างไปร้านหนังสือ แล้วอ่านเล่มที่ชอบจนกระทั่งถูกเจ้าของร้านไล่ ท่านจึงต้องย้ายไปอ่านเล่มเดิมที่ร้านใหม่ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ จากร้านแรกจนกระทั่งร้านสุดท้าย ก็อ่านหนังสือจบพอดี และแล้ววันหนึ่งท่านได้พบหนังสือชื่อ “ธรรมกาย” ซึ่งเขียนตามแนวเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีข้อความว่า “ถ้าจะเดินให้ถูกต้องร่องรอยของพระศาสนา ต้องปฏิบัติให้ได้ทั้งรู้ทั้งเห็น” ตอนท้ายเรื่องมีคำยืนยันว่า “วัดปากน้ำนี้เรียนได้ ทั้งรู้ทั้งเห็น” ข้อความดังกล่าว ยิ่งทำให้ท่านเกิดความปีติยินดี ราวกับว่า เดินมาถูกทางแล้ว
และเมื่อท่านได้อ่านหนังสือ “วิปัสสนาบันเทิงสาร” กล่าว ถึงความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติธรรมวิชชาธรรมกายของคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ แม่ชีผู้เป็นศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ยิ่งทำให้ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะไปศึกษาธรรมปฏิบัติที่วัดปากน้ำ แล้วความคิดหนึ่งก็พลันบังเกิดขึ้นว่า “วัดปากน้ำอยู่ ณ แห่งหนใด”
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2506 ขณะที่มีอายุได้ 19 ปี อยู่ในช่วงเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ท่านก็ตัดสินใจไปวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อตามหาคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ มุ่งหวังว่าหากพบท่านจะขอศึกษาวิชชาธรรมกายให้จงได้ เมื่อไปถึงวัดก็เที่ยวถามใครว่า “รู้จักคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ไหม ?” คำตอบคือ ไม่มีใครรู้จักแม้แต่คนเดียว มีแต่บอกว่า “ไม่มีคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ มีแต่ครูจันทร์” ทำให้ท่านเข้าใจไปว่าเป็นคนละคนกัน เมื่อตามหาไม่พบจึงหันกลับไปทุ่มเทให้กับการเตรียมตัวสอบ จนกระทั่งสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ในที่สุด
ในปี 2506 เมื่อท่านมีอายุได้ 19 ปี ท่านได้เตรียมตัวเพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนหน้านั้นท่านได้ไปวัดปากน้ำเพื่อเสาะหา “คุณแม่ลูกจันทร์” ซึ่งเป็นอาจารย์สอนสมาธิ(Meditation)ที่ได้กล่าวไว้ในนิตยสาร เมื่อได้ไปถึงวัดปากน้ำ แต่ท่านก้อไม่พบ มีแต่คนบอกว่ามีแต่ อาจารย์จันทร์ ซึ่งท่านคิดว่าคงเป็นคนละคน จึงทำให้ได้ไม่ได้พบกับอาจารย์ดังที่ตั้งใจไว้ แล้วท่านก็ได้กลับไปจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สำเร็จ
ในปีการศึกษาแรกท่านจึงได้เดินทางมาวัด ปากน้ำอีกครั้ง ในครั้งนี้ท่านได้ไปศึกษาสมาธิกับพระอาจารย์องค์อื่นก่อน และได้มารู้ในภายหลังว่า คุณแม่จันทร์ กับ อาจารย์จันทร์นั้นเป็นบุคคลคนเดียวกัน และในที่สุดท่านจึงพบกับอาจารย์ที่ทำให้ความฝันของท่านเป็นจริง ท่านรักและเคารพอาจารย์ของท่านมาก และมักจะเรียกอาจารย์ว่าคุณยาย ซึ่งทำให้มีความสนิทสนมเหมือนญาติผู้ใหญ่มากกว่าอาจารย์กับศิษย์
วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2512 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 เป็นวันมหามงคลยิ่ง เพราะเป็นวันที่ท่าน ได้ก้าวเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นพระภิกษุสงฆ์สมดังความปรารถนา ที่พระอุโบสถวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยมีพระเทพวรเวที (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในปัจจุบัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ธัมมชโย” แปลว่า “ผู้ชนะโดยธรรม”
หลังจากบวชแล้วท่านได้กล่าวถึงอุดมการณ์ในการออกบวช ไว้ตอนหนึ่งว่า:
“ การบวชเป็นพระไม่ใช่ของง่าย หาใช่ครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้วจะเป็นพระได้ จะต้องปฏิบัติกิจวัตรของสงฆ์ซึ่งมีศีล 227 ข้อ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย… การบวชนั้นถ้าจะให้ได้บุญกุศล ควรจะเป็นที่พึ่งของพระศาสนาได้ด้วย ไม่ใช่บวชมาเพื่อพึ่งพระศาสนาอย่างเดียว "
อุดมการณ์ อันมั่นคงเช่นนี้ มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยง่าย หากจะเกิดได้ต้องอาศัยการศึกษาและปฏิบัติ จนรู้ซึ้งถึงคุณค่าของพุทธธรรมด้วยตนเองอย่างถ่องแท้เท่านั้น ดังที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า อำนาจพุทธธรรมนั้นยิ่งใหญ่ลึกซึ้ง จนทำให้เกิดความตั้งใจอันมั่นคงว่า จะสละชีวิตนี้แก่พระพุทธศาสนา ครองผ้ากาสาวพัสตร์ไปตราบสิ้นอายุขัย