แม่ค้าโร่แจ้งความ ถูกหลอกขายทุเรียนอ่อนกว่า1ตัน

แม่ค้าโร่แจ้งความ ถูกหลอกขายทุเรียนอ่อนกว่า1ตัน

แม่ค้าผลไม้โร่แจ้งความ หลังถูกเกษตรกรเมืองชุมพร หลอกขายทุเรียนอ่อน กว่า 1 ตัน เจรจาแต่ไม่ยอมรับคืน ทางการนำตรวจสอบพบเป็นทุเรียนอ่อนจริง

นางโสริญา อินทร์พรหม อายุ 36 ปี แม่ค้าผลไม้จากกรุงเทพฯ เดินทางเข้าแจ้งความ ที่สถานีตำรวจภูธรท่าแซะ จังหวัดชุมพร หลังจากติดต่อซื้อขายทุเรียนหมอนทอง จำนวน 1,260 กิโลกรัม จากเกษตรกรใน พื้นที่ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.2558 แต่ทุเรียนที่ได้รับไปเป็นทุเรียนอ่อนทั้งหมด จึงนำทุเรียนดังกล่าวกลับมาคืน แต่เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนไม่รับคืน จึงเข้าแจ้งความ

นางโสริญา เปิดเผยว่า ตนเองเป็นแม่ค้าผลไม้ตามฤดูกาล มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชุมพร แต่มีแผงขายผลไม้อยู่ที่กรุงเทพฯ และในช่วงนี้ที่จังหวัดชุมพรมีทุเรียน จึงได้ติดต่อซื้อทุเรียนหมอนทองไปขาย ซึ่งเมื่อ ปีที่ผ่านมาก็ได้นำทุเรียนจากชุมพรไปขายเพื่อทำกำไรแต่ก็ไม่เจอปัญหาทุเรียนอ่อนแต่อย่างได ในปีนี้ก็ได้ทำเช่นเคย โดยการติดต่อซื้อขายทุเรียนหมอนทองจากเกษตรกรในพื้นที่ ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จำนวน 1,260 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 53 บาท เป็นจำนวนเงิน 66,780 บาท ซึ่งเป็นการตกลงราคาทางโทรศัพท์

หลังจากนั้นเมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน 2558 ก็ได้ให้สามีของตนขับรถลงมาบรรทุกทุเรียน และได้โอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร ซึ่งเมื่อสามีได้นำทุเรียนมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อแกะจำหน่าย ก็พบว่าทุเรียนจำนวนดังกล่าว เป็นทุเรียนอ่อน ไม่สามารถจำหน่ายได้ ตนเองได้ติดต่อกลับมายังเกษตรกรเจ้าของทุเรียน เจ้าของทุเรียนบอกว่าให้จำหน่ายส่วนที่จำหน่ายได้ ไปก่อน เหลือเท่าไหร่ก็จะรับคืน แต่เมื่อดูแล้วว่าเป็นทุเรียนอ่อนทั้งหมดไม่สามารถจำหน่ายได้ จึงตัดสินใจบรรทุกทุเรียนทั้งหมดกลับลงมาคืนที่ชุมพร โดยมีการเจรจากับเจ้าของทุเรียนเพื่อขอคืน แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงได้เดินทางเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรท่าแซะ

หลังจากทราบเรื่องการหลอกขายทุเรียนอ่อนในพื้นที่ นายนักรบ ณ ถลาง นายอำเภอท่าแซะ พร้อมด้วย นายสว่าง โกดี เกษตรอำเภอท่าแซะ,นายสังคม ชุมสุข นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ จึงได้รีบเข้ามาตรวจสอบ นายนักรบ กล่าวว่า ปัญหาการจำหน่ายทุเรียนอ่อน เป็นเรื่องที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายวงศศิริ พรหมชนะ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งได้กำชับให้รีบตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากปัญหาดังกล่าว เป็นการทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้จังหวัดชุมพรเสียชื่อ ส่งผลถึงราคาของพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ตกต่ำ ซึ่งทางจังหวัดชุมพรมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อน สู่ตลาด โดยใช้มาตรการอย่างเข้มงวด และติดตามปัญหาอยู่ตลอด แต่ก็ยังมีการลักลอบกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ ซึ่งทางจังหวัดก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจังหวัดชุมพรได้ให้แต่ละพื้นที่ตั้งชุดออกติดตาม ตรวจสอบ การจำหน่ายทุเรียนอ่อน ถ้าพบเห็นให้ดำเนินตามกฎหมายทันที

ด้านนายสว่าง โกดี เกษตรอำเภอท่าแซะ และนายสังคม ชุมสุข นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อนสู่ตลาดจังหวัดชุมพร ได้นำทุเรียน ที่นางโสริญา นำมาแจ้งความไปตรวจสอบโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นการตรวจสอบด้วย กระบวนการอบ เพื่อหาเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง ผลปรากฏว่าได้ 18 - 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยเกณฑ์มาตรฐานของทุเรียนสุก อยู่ที่ 32 เปอร์เซ็นต์ จึงสรุปว่า ทุเรียนที่นางโสริญา นำมาแจ้งความเป็นทุเรียนอ่อน

พ.ต.อ.ธานี นาคหกวิค ผกก.สภ.ท่าแซะ เปิดเผยว่า นางโสริญา เดินทางเข้าแจ้งความ ที่สถานีตำรวจภูธรท่าแซะ เนื่องจากถูกหลอกขายทุเรียนอ่อนในพื้นที่ท่าแซะ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ทุเรียนที่ นางโสริญา ซื้อไปเป็นทุเรียนอ่อนจริง นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร จึงได้รับเรื่อง และลงบันทึกประจำวัน พร้อมได้มีการติดต่อเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนดังกล่าวมาสอบถาม เพื่อดำเนินคดีต่อไป 

พ.ต.อ.ธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ซึ่งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ผู้ใดโดยก่อเจตนาให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภค หรือประชาชนรายใดได้รับความเดือดร้อนโปรดแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง