คสช.สั่งย้ายบิ๊กขรก.'อดุลย์-ธาริต-นิพัทธ์'

คสช.สั่งย้ายบิ๊กขรก.'อดุลย์-ธาริต-นิพัทธ์'

คสช.สั่งยุบวุฒิสภา โอนอำนาจนิติบัญญัติเป็นของ"พล.อ.ประยุทธ์"สั่งย้าย3บิ๊กขรก."อดุลย์-ธาริต-นิพัทธ์" พร้อมให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มอีก35คน

เมื่อเวลา 18.52 น. วานนี้ (24 พ.ค.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 7 ให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มาประจำสำนักนายกฯ และให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รอง ผบ.ตร. เป็น รักษการ ผบ.ตร.

คำสั่ง คสช.ที่ 8 ให้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาประจำสำนักนายกฯ และให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร รอง ผบ.ตร. ทำหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ

คำสั่ง คสช.ที่ 9 ให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม มาประจำสำนักนายกฯ และให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ปฎิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวงกลาโหม

และคำสั่ง คสช. ที่ 10 ให้วุฒิสภาสิ้นสุดการปฎิบัติหน้าที่ และให้อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เป็นอำนาจของ หัวหน้า คสช.

คสช.ถวายรายงานสถานการณ์บ้านเมือง

วันเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 28/2557 เรื่องการถวายรายงานสถานการณ์บ้านเมือง ระบุว่า ตามที่กองทัพบก และคสช. ได้มีประกาศใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ทั่วราชอาณาจักร และเข้าควบคุมอำนาจการปกครองเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองมาโดยลำดับนั้น

กองทัพบกและคสช.ได้มีหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการแล้วสองครั้ง เมื่อวันที่ 20 พ.ค. และวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมาเพื่อนำความกราบบังคับทูลฯ ตามโอกาสอันเหมาะสม บัดนี้ได้มีหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการว่า ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเรียบร้อยแล้ว จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน ประกาศ ณ วันที่ 24 พ.ค. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ

ออกคำสั่งรายงานตัวเพิ่มอีก35คน

ส่วนสถานการณ์การรัฐประหารในประเทศที่เข้าสู่วันที่ 4 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ออกประกาศฉบับที่ 5/ 2557 เรื่องให้บุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มเติมอีก 35 ราย ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ วันที่ 24 พ.ค. เวลา 13..00 น. อาทิ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นายนายสนธิ ลิ้มทองกุล นายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธุ์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายอนุทิน ชาญวีรกุล นายสุทิน คลังแสง นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นายสุนัย จุลพงศธร นายวัฒน์ วรรลยางกูร นายเกรียง กัลป์ตินันท์ เป็นต้น

"จารุงพงศ์"ยันไม่รายงานตัว

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คว่า เรียนพี่น้องผู้มีจิตสำนึกเสรีไทย ขอยืนยันว่า ไม่ยอมรับ ไม่ยอมก้มหัวให้ทหารที่ยึดอำนาจรัฐที่ประชาชนเลือกตั้งมา ไม่ยอมไปร่วมประชุมกับพวกกบฏ ผมไม่ยอมไปรายงานตัวกับพวกกบฏ เพราะผมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รัฐมนตรีมหาดไทย โดยประชาชนแต่งตั้งมา ผมตั้งใจต่อต้านกบฏทุกรูปแบบกับพลังประชาธิปไตย ผมปลอดภัยดีหลบอยู่ในภาคอิสานครับ

คสช.ยังเผยกักตัว"ยิ่งลักษณ์"

เมื่อเวลา 10.30 น. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีผู้ที่ถูก คสช.ควบคุมตัวตั้งแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ว่า บุคคลที่ถูก คสช. ควบคุมตัวอยู่ประมาณ 150 คน ยังไม่มารายงานตัว 30 คน และคสช.เรียกบุคคลให้มารายงานเพิ่มอีก 35 คน

โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความไม่สงบ ความเป็นอยู่จะเป็นในลักษณะการปรับความเข้าใจกันมากกว่า อยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร มีการอำนวยความสงบอย่างดี

2.บุคคลที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับความไม่สงบโดยตรง แต่มีการเชื่อมโยง มีลักษณะการควบคุมตัวที่เบาลง คือ ขอให้อยู่ที่บ้าน หรือแจ้งที่อยู่ให้ คสช. ให้ทราบรวมถึงการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ

และ3.กลุ่มที่มีหมายจับและมีคดีติดตัว ตั้งแต่ช่วงการชุมนุม โดยกลุ่มนี้ ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม ส่วนระยะเวลานั้น ไม่น่าจะเกิน 7 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของแต่ละคนว่ามีความเกี่ยวข้องกับความไม่สงบมากน้อยแค่ไหน บางคนอาจจะแค่ 2-3 วัน

เมื่อถามว่า คสช.เรียกรายชื่อบุคคลมารายงานตัวเพิ่มอีก 35 คนนั้น พ.อ.วินธัย กล่าวว่า การดำเนินการทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่ได้เจาะจง แต่ดูพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบตั้งแต่ระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ที่มีรายชื่อในบัญชี คสช.ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบทั้งหมดไม่ว่าจะทางตรงและทางอ้อม

ยูเอ็นวิตกไทยคุมนักการเมือง

ด้าน นางนาวี พิลัย ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวที่นครเจนีวาเมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) ว่า การที่กองทัพไทยคุมตัวนักการเมืองระดับสูงและพลเรือนเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากจึงขอให้ คสช. ปล่อยตัวคนเหล่านี้ทันที

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการกลุ่มฮิวแมนไรท์วอชท์ประจำเอเชีย กล่าวว่า การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิของไทยเสื่อมถอย

แอมเนสตี้จี้คสช.ปล่อยนักการเมือง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกการกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างเข้มงวด หลังทหารขอคืนพื้นที่การชุมนุมและมีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอย่างน้อย3 ราย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ คสช.ชี้แจงให้ความกระจ่างเกี่ยวกับสถานที่อยู่ของแกนนำทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่มีรายงานว่าถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย และต้องอนุญาตให้พวกเขาได้พบทนายความ

ส่วนประชาชนนับร้อยรวมตัวกันชุมนุมที่กรุงเทพฯ เรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้าสลายการชุมนุมในตอนเย็นตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่ผู้ชุมนุมรวมตัวกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงก็มีรายงานว่ามีผู้ชุมนุมอย่างน้อยสามคนถูกจับกุม

นายริชาร์ด เบนเนต ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า หากเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบจะถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่อันตราย ประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นจะต้องไม่ถูกลงโทษ กองทัพจำเป็นต้องแสดงความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้คืนอำนาจการปกครองให้กับพลเรือนอาจเข้มข้นขึ้น

"การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการละเมิดสิทธิมนุษยชน" นายริชาร์ด กล่าว และว่า กองทัพไทยได้ประกาศระงับการใช้รัฐธรรมนูญ ยกเว้น หมวดพระมหากษัตริย์ ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป ห้ามการรายงานช่าว รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์กองทัพและการใช้กฎอัยการศึก

ขอความชัดเจนเรื่องที่อยู่และข้อหา

บุคคลสำคัญจำนวนมากกว่า 150 คน รวมถึงนักการเมืองแนวหน้าถูกห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ มีรายงานว่าบุคคลสำคัญนับสิบ รวมถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกควบคุมตัวในระยะเวลาสองวันที่ผ่านมา และยังไม่ทราบว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน

นายริชาร์ด กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ากังวลใจอย่างยิ่งที่กองทัพเข้าควบคุมตัวแกนนำทางการเมืองหลายคน กองทัพต้องชี้แจงให้กระจ่างเกี่ยวกับข้อหาทางกฎหมายที่ใช้ในการจับกุมและระบุว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน ไม่ควรมีใครต้องถูกควมคุมตัวเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสงบ หรือการเข้าร่วมกลุ่มการเมือง

"แกนนำทางการเมืองที่ถูกควบคุมตัวในขณะนี้สมควรที่จะได้รับการปล่อยตัว หรือ ตั้งข้อกล่าวหาตามความผิดอาญาตามที่มีการรับรองในระดับสากล และเข้ารับการพิจารณาคดีโดยศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ" นายริชาร์ด กล่าว

กองทัพต้องออกคำสั่งอย่างชัดเจนต่อกำลังพลของตนว่าการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี จะต้องไม่ถูกนำมาใช้ และเจ้าหน้าที่คนใดก็ตามที่ต้องสงสัยว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวจะต้องถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

สหรัฐฯประเดิมตัดงบทหาร 112 ล้าน

น.ส.มารี ฮาร์ฟ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงเมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจระงับเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่ไทยในเบื้องต้น 3.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 112 ล้านบาท หลังจากเกิดการรัฐประหารในไทย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังทบทวนความช่วยเหลือระดับทวิภาคีต่อไทย มูลค่า 7 ล้านดอลลาร์ หรือ 224 ล้านบาท และความช่วยเหลือจากโครงการระดับสากลและระดับภูมิภาคเป็นลำดับต่อไป

สำหรับโครงการที่ระงับไปแล้ว ได้แก่ โครงการการเงินด้านการทหารต่างประเทศที่ให้ทุนสำหรับการซื้ออาวุธ โครงการอบรมและให้การศึกษาด้านการทหารระหว่างประเทศแก่เจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ไทยเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางทหารที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ เหตุรัฐประหารล่าสุดนี้ นายจอห์น แคร์รี่ รมว.สหรัฐแถลงว่าไม่มีเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมายที่กองทัพเข้าควบคุมการบริหาร และขอให้ฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนพร้อมกลับสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว