กทม.ลุย 'ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ' ใช้เทคโนโลยี เข้มกฎหมาย

กทม.เร่งแก้ปัญหาขโมยสายไฟ ลุย"ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ" บูรณาการทุกภาคส่วน ใช้เทคโนโลยี เข้มกฎหมาย เสริมพลังจากประชาชน เพื่อป้องกัน และลดความเสียหายหลายพื้นที่
ปัญหาการขโมยสายไฟในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐเป็นมูลค่าหลายล้านบาทเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง ทั้งไฟฟ้าดับ ทางเท้ามืด เสี่ยงอุบัติเหตุและอาชญากรรม บางพื้นที่ระบบระบายน้ำไม่ทำงานส่งผลให้น้ำท่วมขัง รวมถึงทำให้การเดินทางและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เรียกว่าพฤติกรรมโจรกรรมที่อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่เดือดร้อนทั้งเมือง
กรุงเทพมหานครจึงเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย "ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ" พร้อมระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้เทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่เกิดซ้ำซากในหลายพื้นที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานครกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถิติแจ้งความกรณีถูกโจรกรรมสายไฟของหน่วยงานสังกัด กทม. มีมูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินหลายล้านบาท
เช่น จากสำนักการโยธา ในปี 2566 – 2568 ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนก่อสร้างและบูรณะ เสียหายคิดเป็นเงินกว่า 2,300,000 บาท
ในปี 2567 กองควบคุมการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง เสียหายคิดเป็นเงินเกือบ 1,200,000 บาท งานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรีช่วงจากถนนสาทรถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 เสียหายคิดเป็นเงิน 1,000,000 บาท
ในปี 2567 – 2568 โครงการสะพานข้ามแยกบางกะปิ เสียหายคิดเป็นเงิน 2,111,211 บาท
รวมถึงโครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วง 2 เสียหายคิดเป็นเงิน 33,800 บาท และโครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วง 1 เสียหายคิดเป็นเงิน 31,512 บาท เป็นต้น ยังไม่นับรวมกับโครงการอื่น ๆ ในการดูแลของสำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขต
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นอย่างการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน โดยทั้งหมดล้วนสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการใน กทม.ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหากรณีถูกโจรกรรมสายไฟของหน่วยงานอย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยแนวทางป้องกันแบบบูรณาการที่ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการทางเทคโนโลยี และกายภาพ เช่น การเปลี่ยนไปใช้หลอด LED และระบบ IoT พิจารณาใช้วัสดุอื่นทดแทนทองแดง เพื่อลดแรงจูงใจการโจรกรรม การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมโดยตรง การออกแบบที่เข้าถึงยาก รวมถึงการติดตั้งระบบตรวจจับและเฝ้าระวัง เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่เสี่ยง ระบบสัญญาณเตือนภัย หรือรั้วไฟฟ้า (ในพื้นที่ที่เหมาะสม)
2. เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ประชาสัมพันธ์ช่องทางรับแจ้งเหตุที่เข้าถึงง่าย หรือการให้รางวัลนำจับ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน สอดส่องดูแลความปลอดภัยในพื้นที่
โดยผู้ที่ลักลอบตัดสายไฟ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และหากกระทำในเวลากลางคืน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 7 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 140,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
ส่วนผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่า รับของโจร มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นำของโจรมาขายมีโทษจำคุก 6 เดือน - 10 ปี และปรับ 10,000 - 200,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
"ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ" เป็นการรวมพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อหยุดภัยเงียบนี้ให้ได้
หากพบเห็นพฤติกรรมน่าสงสัย ให้แจ้งทันที ผ่านสายด่วน 1555 หรือ Traffy Fondue หรือแจ้งตำรวจ โทร.191