‘วัดไร่ขิง’ ขุมทรัพย์แห่งศรัทธา รายได้ 100 ล้าน สูญพนัน 1,000 ล้าน

‘วัดไร่ขิง’ ขุมทรัพย์แห่งศรัทธา รายได้ 100 ล้าน สูญพนัน 1,000 ล้าน

ทรัพย์สินวัดไร่ขิง ที่พระสงฆ์จัดการเอง ขาดกลไกตรวจสอบจากภายนอก เป็นช่องโหว่เชิงระบบ จนเสียหายต่อศรัทธา และทรัพย์สินวัด จากรายได้ 100 ล้านต่อปี สูญพนัน 1,000 ล้าน

“วัดไร่ขิง” ศูนย์รวมจิตใจของชาวนครปฐม ต้องเผชิญกับวิกฤติศรัทธาอย่างหนัก เมื่อตกเป็นข่าวอื้อฉาว “เจ้าคุณแย้ม” เจ้าอาวาสวัดต้องสึกพ้นจากตำแหน่ง และถูกดำเนินคดี ยักยอกเงินวัดหลายร้อยล้านบาท หลังพบเส้นทางเงินถูกโอนผ่านสีกาสาว ไปยังเว็บพนันออนไลน์

วัดไร่ขิง มีชื่อทางการว่า “วัดมงคลจินดาราม” สร้างขึ้นในสมัย รัชกาลที่ 4 ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปี 2533 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม มีพระพุทธรูป “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” เป็นพระประธาน ที่ชาวบ้านเคารพนับถือ

อดีตเจ้าอาวาส คนล่าสุดคือ “พระธรรมวชิรานุวัตร” (แย้ม กิตฺตินฺธโร) หรือ “เจ้าคุณแย้ม” ชื่อเดิม แย้ม อินทร์กรุงเก่า อายุ 70 ปี (เกิด 27 มิถุนายน 2498)

นอกจาก “เจ้าคุณแย้ม” จะมีตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงแล้ว ยังมีอีกหลายตำแหน่ง ที่มีบทบาทสำคัญในวงการสงฆ์ อยู่ในระดับพระราชาคณะชั้นธรรม เป็นเจ้าคณะภาค 14 ที่ปกครองคณะสงฆ์ 4 จังหวัด คือ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร และยังเป็น ผอ.วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี เป็นรองแม่กองธรรมสนามหลวง ประจำคณะหนกลาง อีกทั้งยังมีตำแหน่งเผยแผ่ของสงฆ์ คือ ประธานกรรมการบริหารกลาง โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ถือว่า ไม่ธรรมดา

สายแฝงตัวในวัด 8 เดือนเก็บหลักฐาน

กระทั่ง มีกรณีคาดไม่ถึง เมื่อศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง ได้ออกหมายจับ "พระธรรมวชิรานุวัตร" เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการรักษาทรัพย์ แต่กลับเบียดบัง หรือทุจริตทรัพย์นั้นมาเป็นของตน และเป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เมื่อ 15 พฤษภาคม 2568

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนถึงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อวัด และวงการสงฆ์อย่างร้ายแรง ว่า พระธรรมวชิรานุวัตร เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง มีพฤติกรรมยักยอกเงินวัดไปเล่นพนันออนไลน์ จึงจัดกำลังลงพื้นที่สืบหาเบาะแส โดยส่งสายลับจำนวนหนึ่ง เข้าไปแฝงตัวอยู่ในวัดนานกว่า 8 เดือน จนกระทั่งพิสูจน์ทราบแน่ชัดว่า มีพฤติกรรมตามที่ถูกร้องเรียนจริง

“เส้นเงิน” โอนให้สีกาสนิท 847 ล้าน

ข้อมูลการสอบสวนพบว่า อดีตเจ้าอาวาสได้ให้กรรมการวัด ซึ่งเป็นพระคนสนิท โอนเงินจากบัญชีวัด เข้าบัญชีส่วนตัว ก่อนจะโอนต่อไปยังบัญชีของ "หญิงสาวคนสนิท" ที่เป็นนายหน้าเครือข่ายเว็บพนัน และมีการโอนต่อไปยังบัญชีเว็บพนันออนไลน์ เพื่อเติมเครดิตสำหรับใช้เล่นพนันออนไลน์ ประเภทบาคาร่า

โดย "สีกา" รายนี้ ทำหน้าที่คล้ายตัวแทนเว็บพนันออนไลน์ เป็นนายหน้ารับแทงพนันให้อดีตเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าของบัญชีธนาคาร ดูแลเส้นทางการเงินให้เว็บพนันออนไลน์

ข้อมูลเมื่อปลายปีที่แล้ว 2567 พบว่า เธอเคยถูกตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจับกุม กรณีมีส่วนพัวพันกับเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์แห่งหนึ่ง ก่อนได้ประกันตัวออกมาสู้คดี

สำหรับกรณี "เจ้าคุณแย้ม" อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงแห่งนี้ พบเส้นทางเงิน ตั้งแต่ปี 2564 - 2568 รวม 4 ปี มีการโอนเงินจากบัญชีธนาคารของวัด เข้าบัญชีธนาคารส่วนตัว อย่างต่อเนื่อง รวมแล้วกว่า 300 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ยังพบความเชื่อมโยง ระหว่างบัญชีธนาคารของเจ้าคุณแย้ม กับบัญชีเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ มียอดเงินทั้งได้ และเสียจากพนันออนไลน์ ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

เมื่อยอดเงินในบัญชีธนาคารของวัดน้อยลง เจ้าคุณแย้มจึงติดต่อขอยืมเงินพระผู้ใหญ่วัดอื่นๆ มาเล่นพนัน ตั้งแต่หลักแสนบาท ถึงหลักล้านบาทต่อครั้ง

กระทั่ง ล่าสุด 16 พ.ค.ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นกุฏิอดีตเจ้าอาวาส ตรวจยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสารรายรับรายจ่าย เป็นหลักฐานประกอบสำนวนคดี 

จึงพบว่า พระคนสนิทของเจ้าคุณแย้ม ซึ่งเป็นพระผู้ช่วยที่จำวัด กุฏิเดียวกัน ร่วมขบวนการ โดยเป็นคนนำเงินไปโอนเข้าบัญชีของสีกานายหน้าเว็บพนัน รวมกว่า 600 ล้านบาท รวมทั้งยังมีบัญชีของคนสนิท ที่ได้เงินจากเจ้าคุณแย้ม และโอนไปให้สีการายนี้ รวม 847 ล้านบาท

อีกทั้ง ยังพบบัญชีธนาคารของมูลนิธิภายในวัด อีกกว่า 10 บัญชี จึงนำไปตรวจสอบยอดเงิน และเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องไปสอบปากคำ รวมถึงฆราวาสที่ทำธุรกิจภายในวัด

ที่มารายได้วัด รับบริจาค-ทำบุญ

คดีนี้ ยิ่งสาวลึก ก็ยิ่งพบว่า จำนวนเงินวัดเกือบ 1,000 ล้าน ถูกโยกไปยังเว็บพนันออนไลน์ จึงทำให้สังคมสนใจว่า รายได้ของวัดไร่ขิง มีมากน้อยแค่ไหน แหล่งรายได้ มาจากช่องทางใดบ้าง

เมื่อสำรวจที่มารายได้ของวัดไร่ขิง เบื้องต้นพบว่า หลักๆ จะมาจากเงินบริจาคจากประชาชน อาทิ การเปิดรับบริจาคภายในวัด เป็นเงินสด เเละการจำหน่ายสินค้า รวมทั้งรายได้จากการเช่าบูชาวัตถุมงคล

- จำหน่าย รับบริจาค ธูปเทียน พวงมาลัย 

- ทำบุญ บูชาเทียน ดอกบัว วันเกิด 

- ทำบุญหล่อเทียนประจำปีเกิด 

- เช่าบูชาเหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง

- รับบริจาค สร้างโซลาร์เซลล์ 

- ทำบุญหีบศพ

- จำหน่ายถวายสังฆทาน

- ร้านขายสินค้า ผลิตภัณฑ์โอทอป

- ร้านขายอาหาร

ขุมทรัพย์แห่งศรัทธา 100 ล้านต่อปี

โดยรายได้เข้าวัดในปัจจุบัน พบว่า การจำหน่าย หรือให้เช่าบูชาวัตถุมงคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคาร ชื่อวัดไร่ขิง (รุ่นรวยปลดหนี้) ธนาคารออมสิน สาขาดอนหวาย 

ล่าสุด มีการ จัดทำวัตถุมงคล เหรียญหลวงพ่อวัดไร่ขิง รุ่น “บุญกฐิน 2567 ” (อุดมทรัพย์ ) ราคาเหรียญสูงสุด อยู่ราคาเหรียญละ 1,500 บาท ไล่ลงไป มีเหรียญละ 999 บาท 150 บาท เเละ ราคา 100 บาท

ส่วนรายได้จากการค้าขาย จะโอนเข้าบัญชี วัดไร่ขิง (ร้านค้าสวัสดิการ) 

ทั้งเงินบริจาค ที่ได้รับเงินสดทุกวัน โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่จะมีพุทธศาสนิกชนมาทำบุญ และเเก้บนหลวงพ่อวัดไร่ขิงอย่างคึกคัก ค่าเช่าล็อกขายของในงานวัด และกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆ  

ทำให้วัดไร่ขิง มีรายได้รวมกว่า 100 ล้านบาทต่อปี โดยเงินบางส่วนไม่ได้ถูกนำเข้าบัญชีวัด และไม่สามารถตรวจสอบได้

ขณะที่ข้อมูลงานวิจัย ระบุถึงเรื่องแหล่งรายได้หลักของวัดทั่วประเทศว่า มาจากเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา สูงถึง 5.4 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยสินทรัพย์รวมของวัดทั่วประเทศ ประเมินว่ามีจำนวนถึง 1.35 ล้านล้านบาท

ช่องโหว่การทำบัญชี-ทรัพย์สินวัด

ขณะที่การบริหารจัดการเงินภายในวัด แม้ตามหลักพระธรรมวินัย พระสงฆ์ไม่สามารถจับเงิน หรือจัดการทรัพย์สินได้โดยตรง จึงมีการแต่งตั้ง “ไวยาวัจกร” ซึ่งเป็นฆราวาส ให้ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของวัด

ทว่า อำนาจหน้าที่ไวยาวัจกร ตามกฎมหาเถรสมาคม หรือ มส.ฉบับที่ 18 ระบุว่า ไวยาวัจกร มีหน้าที่เพียงแค่เบิกจ่ายค่านิตยภัต หรือค่าครองชีพพระ ไม่ได้มีหน้าที่จัดการผลประโยชน์หรือทรัพย์สินอื่น อย่างที่มีความเข้าใจกันผิดๆ และหากไวยาวัจกร ทำนอกเหนือหน้าที่ จะมีความผิดตามกฎหมายอาญา 

ขณะที่ อำนาจหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินวัด ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม อยู่ที่เจ้าอาวาส มีอำนาจเด็ดขาด ในการแต่งตั้งผู้จัดการผลประโยชน์ จะเป็นรูปแบบ คนเดียว หรือเป็นคณะกรรมการก็ได้ และต้องแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์ จะเป็นโดยวาจาไม่ได้ ดังนั้นอำนาจที่แท้จริง จึงอยู่ที่เจ้าอาวาสเท่านั้น 

โดยการจัดทำบัญชีรับจ่ายของวัด ซึ่งที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อปี 2560 เห็นชอบรูปแบบการจัดทำบัญชีวัด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. เสนอ โดยจะเป็นรูปแบบบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างง่าย แต่จะต้องทำบัญชี 6 ส่วน ได้แก่

1. สมุดบัญชีรายรับรายจ่ายรายวัน 2. สมุดบัญชีเงินฝาก 3. สมุดบัญชีแยกรายรับ 4. สมุดบัญชีแยกรายจ่าย 5. สมุดบัญชีงบประจำปี และ 6. เล่มรายงานงบประจำปี

เมื่อวัดจัดทำบัญชี รายรับรายจ่ายแล้ว ต้องมีการสรุปงบประมาณรายปี เพื่อเสนอเจ้าอาวาสเป็นผู้ลงนาม

อย่างไรก็ตาม กรณีบริหารจัดการทรัพย์สินวัด มีประเด็นน่าสนใจ จากงานวิจัยนครปฐม เมื่อไม่กี่ปีมานี้ พบว่า วัดพระอารามหลวง 77.5% มีพระสงฆ์เป็นผู้ทำบัญชีเอง ส่วนผู้ตรวจสอบ พบว่า 85.75% มีเจ้าอาวาสเป็นผู้ตรวจสอบเอง

งานวิจัยยังระบุด้วยว่า วัดพระอารามหลวง ถึง 93.90% ไม่เคยมีการตรวจสอบบัญชีจากหน่วยงานภายนอก 

ดังนั้น สภาพที่เป็นอยู่ คือ พระทำเอง พระสรุปเอง และขาดกลไกตรวจสอบจากองค์กรภายนอก จึงเป็นจุดอ่อน และช่องโหว่เชิงระบบที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดการทุจริต เช่น กรณีของวัดไร่ขิง ที่ชัดเจนว่า มีการปล่อยปละละเลย

คดีนี้ อาจเป็นบทเรียนสำคัญ ที่สะท้อนถึงความจำเป็นในการมีระบบตรวจสอบ และบริหารจัดการทรัพย์สินของวัดอย่างโปร่งใส เพื่อป้องกันการทุจริต และรักษาศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันสงฆ์ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์