'สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ' แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ รมว.อว. ชื่นชมผลงาน

'สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ' แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ รมว.อว. ชื่นชมผลงาน

"ศุภมาส"ชื่นชมระบบข้อมูล "สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ" ผลงานผสานพลังความรู้งานวิจัย นวัตกรรมของ ม.ราชภัฏศรีสะเกษ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่ บพท.สนับสนุนทุนวิจัย

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับนายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวง อว. เพื่อติดตามความก้าวหน้าของผลงานวิจัยที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในงาน "มหกรรมแก้จน คนของพระราชา" ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษกับหน่วย บพท. ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ว่าประทับใจในการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันความรู้ในสังกัดกระทรวง อว. ทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษและหน่วย บพท. ที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาความยากจนอย่างครบวงจร แม่นยำ และยั่งยืน บนพื้นฐานของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่

\'สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ\' แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ รมว.อว. ชื่นชมผลงาน

นับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งที่การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษา หน่วย บพท. ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ ก่อให้เกิดระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนของจังหวัดศรีสะเกษภายใต้ชื่อ "สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ" หรือ "Sisaket Equity System-SES" ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อความหมายได้อย่างลึกซึ้ง

 

"ด้วยความร่วมมือนี้ ทำให้เรามีแผนการพัฒนาโครงการที่มุ่งเสริมสร้างทักษะอาชีพและผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการที่พึงได้รับ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยระบบข้อมูลครัวเรือนความยากจนกลาง 'สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ (SES)' เป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบและนำผู้ยากไร้ที่ตกหล่นเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือ"

\'สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ\' แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ รมว.อว. ชื่นชมผลงาน

นายศุภชัย ใจสมุทร กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ทำให้ได้เห็นว่าระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษยังถูกใช้เป็น "สารตั้งต้น" ในการออกแบบโมเดลแก้จนและพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของพื้นที่ อาทิ โมเดลผักปลอดภัย และนวัตกรรมการแปรรูปถั่วเหลืองเป็นอาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและยกระดับรายได้ให้แก่ครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเดือนละ 3,000 บาท นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมโยงสมาชิกจากหลากหลายตำบล ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

การส่งต่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายใต้ "โมเดลแก้จน" เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เช่น โมเดลผักปลอดภัย และนวัตกรรมการแปรรูปถั่วเหลือง ไม่เพียงช่วยให้ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังก่อให้เกิดเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมโยงและส่งเสริมความเสมอภาคในพื้นที่

 

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติผ่านการขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการเพื่อครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในหลากหลายมิติ เช่น การผลักดันให้ครัวเรือนกลุ่มสงเคราะห์เข้าถึงกลไกกองทุนระดับตำบลเพื่อรับสวัสดิการ และการประสานความช่วยเหลือกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความยั่งยืนในการช่วยเหลือครัวเรือนที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ

\'สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ\' แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ รมว.อว. ชื่นชมผลงาน

ผศ.ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษซึ่งใช้เป็นรากฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด เป็นผลจากการทุ่มเททำงานร่วมกับหน่วย บพท. และเครือข่ายพันธมิตรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา

"ระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษได้กลายเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการออกแบบโมเดลแก้จนและพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลายสำหรับครัวเรือนยากจน ทั้งระบบปฏิทินการปลูกพืชเกษตร น้ำหมักชีวภาพจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การแปรรูปถั่วเหลืองเป็นอาหารมังสวิรัติพร้อมรับประทานในรูปแบบต่างๆ เช่น แป้งถั่วเหลือง หมูยอเจปันสุข และเทมเป้ รวมถึงกองทุนสวัสดิการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนที่ประสบภัยพิบัติ"

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการผนึกกำลังองค์ความรู้ โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกในหลายมิติ โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจนให้มีรายได้ที่มั่นคงและสม่ำเสมอ มีอาชีพที่ยั่งยืน และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน ระบบข้อมูลสุขเสมอกันที่ศรีสะเกษยังได้รับความเชื่อถือจากหน่วยงานภาครัฐและถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนพัฒนาพื้นที่อย่างครอบคลุมทั่วทุกอำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ