'ภูมิธรรม'เยี่ยมชม 'อาร์ วี คอนเน็กซ์' ผู้ผลิตโดรนสัญชาติไทย

"ภูมิธรรม” เยี่ยมชม “อาร์ วี คอนเน็กซ์” ผู้ผลิตโดรนสัญชาติไทย ย้ำพร้อมหนุนอุตฯป้องกันประเทศ พร้อมปรับระเบียบกองทัพ เอื้อผู้ประกอบ
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.68 ที่บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด จ.ปทุมธานี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชม กระบวนการผลิตอากาศยานไร้คนขับ (UAV หรือโดรน) และศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ (CSOC) ของ บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และให้บริการเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ชั้นนำของประเทศ โดยมี นายสุเจตน์ จันทรังษ์ ประธานบริษัท พร้อมด้วยผู้บริหาร บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ให้การต้อนรับ
นายภูมิธรรม ระบุว่า มีความสนใจโดรน เนื่องจากบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ผลิตโดยคนไทยและใช้ทรัพยากรภายในประเทศ และหารสู้รบในปัจจุบันก็ใช้โดรนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยได้ ซึ่งกระทรวงกลาโหมก็มีทิศทางนี้เช่นกัน นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมอยากส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณ อีกทั้งยังส่งผลดีในเรื่องเศรษฐกิจ และสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามตนมองว่า เหล่าทัพไม่น่าจะมีปัญหาที่จะหันมาใช้ยุทโธปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศ เพราะเราได้มีการพูดคุยกันแล้ว ซึ่งทางเหล่าทัพก็ต้องการเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อภายในประเทศ แต่ขณะเดียวกันทางบริษัท หรือผู้ผลิตก็ต้องทำสินค้าให้มีคุณภาพที่ทัดเทียม เพื่อสามารถนำไปใช้งานได้ เพราะจะส่งผลต่อผู้ปฏิบัติงาน ที่จะต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าสามารถปกป้องชีวิตของตัวเองได้กับภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
นายภูมิธรรม ยังระบุอีกว่า เรามีความคาดหวัง ว่าจะนำโดรนมาปรับใช้ในภารกิจการบรรเทาสาธารณภัย การลาดตระเวน ซึ่งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงมากเกินไป ก็น่าจะนำมาทดลองใช้ได้ ส่วนการแก้ไขระเบียบหรือกฎหมายภายในกองทัพ เพื่อให้เอื้ออำนวยกับผู้ประกอบการภายในประเทศ ตนเคยพูดคุยกับภาคเอกชนหลายบริษัท ว่ายินดีที่จะปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น เพราะกฎระเบียบเป็นเพียงข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ แต่หากไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็สามารถแก้ไขได้ เพราะเราไม่ได้สร้างกฎระเบียบมาพันธนาการตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในนโยบาย ซึ่งก็ต้องเร่งดำเนินการแก้ระเบียบ ส่วนจะสำเร็จได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพภายในประเทศ
โดย น.อ.กันต์พัฒน์ มังคละศิริ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ได้เป็นผู้บรรยายสรุปถึงประเด็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยที่อยากเสนอต่อรัฐบาล โดยชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด รวมถึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยหลายราย มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่ทัดเทียมกับผู้ผลิตยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีของต่างประเทศ โดย บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด นั้นมีศักยภาพในการออกแบบ ผลิต UAV และการปรับปรุงอากาศยานรบให้แก่กองทัพอากาศ (ทอ.) ตลอดจนระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Anti-Drone System), ระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี (Tactical Data Link : TDL), ระบบเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัย (Intelligent Operation Center : IOC) และงานให้บริการข้อมูล ระบบวิเคราะห์ การเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนเหตุการณ์ (Analysis, Monitoring and Alerting System) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความร่วมมือกับศูนย์การทหารปืนใหญ่ กองทัพบก ในโครงการพัฒนาระบบปฏิบัติการ ควบคุมและสั่งการ ศูนย์ปฏิบัติการทางยุทธวิธี กรมทหารปืนใหญ่ อีกด้วย
“ปัจจุบันสถานการณ์โลกมีความเปลี่ยนแปลง เกิด Hybrid Warfare (สงครามผสมผสาน) หรือ Electronic Warfare (สงครามอิเล็กทรอนิกส์) ที่ทำให้ต้องพัฒนา UAV และระบบป้องกันใหม่ๆ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัย-ข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ จึงขอเสนอรัฐบาล และกระทรวงกลาโหมในกำกับของ รองนายกฯ ภูมิธรรม ให้ความสำคัญกับภัยคุกคามสมัยใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ” น.อ.กันต์พัฒน์ ระบุ
น.อ.กันต์พัฒน์ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561 –2580 ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ได้กำหนดแนวทางและนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง สามารถแข่งขัน และลดการพึ่งพาหรือนำเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของหน่วยปฏิบัติควรดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ดี ระเบียบที่นำไปสู่การปฏิบัติในขั้นตอนการจัดหาอาจยังขาดความชัดเจนและอาจถูกตีความว่าการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะเจาะจงไปที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ปฏิบัติขาดความมั่นใจและกังวลว่าจะถูกกล่าวหาว่าประพฤติทุจริต ส่งผลให้นโยบายการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ตามเจตนารมณ์
น.อ.กันต์พัฒน์ เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ขยายการตลาดไปยังต่างประเทศโดยมีพันธมิตรความร่วมมือในเรื่อง UAV แล้วในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี แคนาดา โปรตุเกส เป็นต้น ซึ่งในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ขณะนี้ ถือเป็นโอกาสให้ไทยสามารถส่งออกเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ไปยังประเทศที่ต้องการทางเลือกนอกเหนือจากชาติมหาอำนาจ โดยอาจใช้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตยุทโธปกรณ์ได้
ด้าน นายพิพัฒน์ ถาวรโลหะ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำคณะรองนายกฯ เยี่ยมชมขีดความสามารถการพัฒนาและผลิต UAV กล่าวเสริมว่า บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด มีบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ ศักยภาพในการผลิต สามารถรองรับการผลิต และส่งออกนอกประเทศซึ่งเราเน้นการวิจัยพัฒนา และพึ่งพาตนเอง ตัวอย่างเช่น JRV-01 โดรนเป้าบินขับเคลื่อนด้วย jet engine ที่ บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด สามารถผลิตได้เองเป็นประเทศแรกในอาเซียน
นายธนจักร วัฒนกิจ รองประธานฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศและการวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด นำคณะรองนายกฯ เยี่ยมชม ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังความปลอดภัยไซเบอร์ (CSOC) โดยมีระบบเฝ้าระวังและตอบสนองต่อภัยคุกคามของข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ที่ครบวงจร (Managed Detection and Response (MDR) ชื่อ อะซูไรต์ (Azurites) ที่ได้ทำการให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศแล้ว เช่น ประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา อินเดีย บูรไน เป็นต้น โดยบริษัทลูก “ซินแคลร์” ผู้ให้บริการ MDR ที่ใช้อะซูไรต์ ได้รับการขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการด้าน MDR จาก Gartner Peer Insights ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาชั้นนำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) โดยเฉพาะในเรื่องของการประเมินผลิตภัณฑ์และบริการด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์การตรวจจับการทุจริต (Fraud Detection) ซึ่งสอดคล้องกับ พรก ไซเบอร์ ฉบับใหม่ที่จะให้ธนาคารและค่ายมือถือร่วมรับผิดชอบกรณีมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน