มติ ก.ต.สอบวินัยร้ายแรง 2 ผู้พิพากษา เอื้อคู่ความ คดีฟ้องร้องในตระกูลดัง

มติ ก.ต.สอบวินัยร้ายแรง 2 ผู้พิพากษา ตำแหน่งระดับอธิบดี และรองอธิบดี ปมเอื้อประโยชน์คู่ความ คดีฟ้องร้องกันเองในครอบครัวตระกูลดัง ส่งผลกระทบธุรกิจ จากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ที่ห้ามจ่ายเงินปันผลนานกว่า 5 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ครั้งที่ 4/2568 เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2568 โดยมีนางชนากานต์ ธีรเวชพลกุล ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน มีวาระที่น่าสนใจ คือ พิจารณารายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการตุลาการ กรณีให้คำปรึกษาคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งพฤติการณ์เกินเลยไปกว่าการให้คำปรึกษาคดีความ โดยทั่วไป และเกินความเหมาะสมที่ข้าราชการตุลาการควรพึงกระทำได้ ทั้งไปร่วมนั่งพิจารณาคดี โดยไกล่เกลี่ยคู่ความ อันอาจทำให้คู่ความ อีกฝ่ายสงสัยในความเป็นกลาง
อันเป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนและประเพณีปฏิบัติของทางราชการและจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ ตามที่ ก.ต. กำหนด ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 62 และประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 31 วรรรคสอง เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง เห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์ และมีมติเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 2 ราย มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้าราชการตุลาการ 2 ราย ที่ถูกชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เป็นระดับอธิบดี และรองอธิบดีผู้พิพากษา ปัจจุบันย้ายออกจากศาลดังกล่าวแล้ว
มูลเหตุสำคัญมาจากการถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยเหตุผล และหลักการของกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้แก่คู่ความฝ่ายตรงข้าม ในคดีฟ้องร้องกันเองของคนในครอบครัวนักธุรกิจตระกูลดัง ซึ่งมีการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565
โดยมีการกล่าวอ้างว่า ข้าราชการตุลาการระดับอธิบดี มีความสนิทสนมกับคู่ความฝ่ายตรงข้าม เดินทางเข้าออกในบ้านคู่ความฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่ใช่การกระทำโดยปกติของตุลาการ ที่จะเข้าไปข้องแวะ หรือสนิทสนมกับคู่ความในคดี ขณะที่กระบวนการพิจารณาคดีมีความล่าช้า ส่งผลเสียหายทางธุรกิจ ได้รับผลกระทบจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจ่ายเงินปันผลหุ้น จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานกว่า 5 ปี