เวทีเสวนา กต.ไขปม OCA ไทย-กัมพูชา หวั่นเลิก MOU44 เข้าทางกลุ่มจ้องฮุบสัมปทาน

กต.เปิดเสวนาไขข้อเท็จจริง OCA ไทย-กัมพูชา เห็นพ้องประโยชน์ MOU44 เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ขัดพระบรมราชโองการไหล่ทวีป หวั่นไทยยกเลิกฝ่ายเดียวผิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ระวังเข้าทางกลุ่มจ้องฮุบสัมปทาน พรัอมย้ำ MOU44 ไม่ยอมรับเส้นอ้างสิทธิ์ของกัมพูชา
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กระทรวงการต่างประเทศ จัดเวทีเสวนาหัวข้อ “OCAไทย-กัมพูชา: ข้อเท็จจริง และทางเลือก” เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงต่อ Overlapping Claims Area ระหว่างไทย และกัมพูชา และรับทราบข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ทั้งมิติกฎหมายระหว่างประเทศ พลังงาน และนิติบัญญัติ รวมถึงบทบาทภาครัฐ และให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองต่าง ๆ โดยจะนำความเห็นไปกำหนดบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ และแจ้งให้รัฐบาลได้รับทราบต่อไป
โดย นายทรงชัย ชัยปฏิยุทธ รองอธิบดีฯ รักษาการอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ย้ำถึงกฎหมายระหว่างประเทศ และการเจรจา OCA ไทย-กัมพูชาว่า ในปี 2515 กัมพูชาประกาศการอ้างสิทธิ์บริเวณไหล่ทวีป และไทยประกาศอ้างสิทธิ์ ในปี 2516 ต่อมา เพราะไทยไม่ยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชา เพราะมีการลากเส้นชนเกาะกูดของไทย ฉะนั้น จะต้องมีการเจรจา เพราะมีการอ้างสิทธิเหลื่อมกัน และรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ก็ไม่ได้ให้สิทธิ์สัมปทานใด ในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้
รักษาการอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยังเปิดเผยด้วยว่า ประเทศไทย เคยประสบความสำเร็จในการเจรจาลักษณะดังกล่าวมาแล้ว 5 ประเทศ จากทั้งหมด 6 ประเทศ อาทิ เวียดนาม, มาเลเซีย แต่พื้นที่อ้างสิทธิ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น ยังไม่ได้เริ่มมีการเจรจาอย่างจริงจัง จึงจะต้องมีการเจรจาต่อไป บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่ นายสรจักร เกษมสุวรรณ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุหัวข้อ “MOU2544 ในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ” โดยยืนยันว่า MOU44 นั้น เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และมีผลบนกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะถือเป็นความตกลงระหว่างรัฐ และเป็นสนธิสัญญาระหว่างรัฐ สามารถตกลงเพื่อยกเลิกกันได้ แต่หากไทยยกเลิกเพียงฝ่ายเดียว ก็จะถือเป็นการขัด หรือละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศได้ และ MOU44 ก็ได้เกิดขึ้นตามพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีป และเป็นข้อตกลงชั่วคราวระหว่าง 2รัฐ เพื่อให้มีการเจรจา ไม่มีผลกระทบต่อการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศ และไม่ได้ทำให้สิทธิของฝ่ายใดหายไป หรือมีมากขึ้น ซึ่ง MOU44 กำหนดให้มีการดำเนินการ ทั้งการเจรจาทำความตกลง เพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน และกำหนดพื้นที่ขอบเขตการแบ่งให้ลุล่วงเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น ทั้งไทย และกัมพูชา ต้องทำความตกลงบนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุผลความเที่ยงธรรมทั้ง 2 ฝ่ายจากการเจรจาตกลงกัน ซึ่งเป็นไปตามคำตัดสินของศาลโลก ที่เคยมีไว้ก่อนหน้านี้
ส่วนหากไม่สามารถตกลงกันได้นั้น นายสรจักร ระบุว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องให้มีการระงับข้อพิพาทผ่านการขึ้นศาลโลก หรือ ตั้งอนุญาโตตุลาการ และในระหว่างที่ยังไม่สามารถตกลงบรรลุผลกันได้ ให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้อง จัดทำความตกลงชั่วคราว ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ และพยายามทุกวิถีทางไม่ขัดขวาง หรือกระทบความตกลงสุดท้ายของบทสรุป หรือจะทำ Joint Development ก็ได้ เพื่อเป็นทางออกหนึ่งในการใช้ประโยชน์พื้นที่
นายสรจักร ยังเห็นว่า ประเด็นสำคัญนั้น แม้จะมี MOU44แล้ว แต่คณะกรรมการ JTC จะต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องของการเสียดินแดน เพราะเกาะกูด จะต้องมีทะเลอาณาเขตของตนเอง และเกาะทุกเกาะ ต้องมีชีวิตทางเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง ดังนั้น เกาะกูด จะต้องมีทะเล และจะต้องการเจรจาให้สำเร็จผ่านคณะกรรมการ JTC ก่อน แล้วจึงค่อยมาดำเนินการการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน MOU44 จึงเป็นไปตามหลักกฎหมายทุกประการ และไม่กระทบการอ้างสิทธิของทั้งไทย และกัมพูชา
ขณะที่ นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงอนาคตความมั่นคงทางพลังงานจากอ่าวไทยว่า ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงอย่างวิกฤต และไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2548 การผลิต และการนำเข้าก็ลดลง จึงต้องมีการนำเข้าก๊าซเหลว หรือ LNG จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จนกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชน ซี่งแนวทางแก้ไขในเชิงนโยบายเบื้องต้น แม้จะมีการนำแหล่งก๊าซที่จะหมดอายุสัมปทาน ทั้งแหล่งเอราวัณ และแหล่งก๊าซบงกต ที่ใกล้หมดอายุแล้วมาใช้ แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ทับซ้อนบริเวณไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา เพราะเชื่อว่า เป็นพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่มีพลังงาน ศักยภาพสูง ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ค้างคามาจนปัจจุบัน
นายคุรุจิต ยังยืนยันด้วยว่า ในมุมมองของนักพลังงาน เห็นว่า MOU44 เป็นกรอบที่ดี เพราะกัมพูชา ไม่เคยยอมรับว่า การอ้างสิทธิเกาะกูด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่MOU44 ได้ตีกรอบมัดกัมพูชาเอาไว้ และยิ่งกัมพูชาต้องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่มากเท่าใด ก็จะต้องเจรจาพื้นที่ไปด้วย พร้อมยังเห็นว่า การเจรจาจะทำให้เกิดการพัฒนาได้เร็วที่สุด และกังวลว่า การยกเลิก MOU44 จะเป็นการยกเลิกการเจรจา และต้องไปตั้งต้นใหม่ ดังนั้น การดำเนินการตรมกรอบ MOU44 นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เหมือนที่กระทรวงการต่างประเทศ เคยดำเนินการมาในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซีย และไทย-เวียดนาม มาแล้ว รวมถึงยังห่วงด้วยว่า การยกเลิก MOU44 นั้น กลับจะไปเข้าทางกลุ่มคนที่ไม่อยากจะแบ่งเขต แต่อยากได้สัมปทานเพียงอย่างเดียว
ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา ชี้จุดอ่อนของ MOU44 ว่า ปัญหาทั้งหมด เกิดขึ้นเพราะมุมมองที่แตกต่างกันของไทย และกัมพูชา ซึ่งมีความแตกต่างกัน จนยากที่จะคุย และจะยอมรับได้ เพราะเส้นแบ่งของกัมพูชา ได้ผ่ากลางเกาะกูด แต่ไทยได้ยึดเส้นมัธยะ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งครึ่งของระยะทางทั้งหมด ระหว่างเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา ดังนั้น จึงยากที่จะคุยกันได้ และผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ก็เห็นตรงกันว่า ไม่สามารถยอมรับเส้นแบ่งของกัมพูชาได้
นายคำนูณ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า การยอมรับให้ความสำคัญ กับการมีอยู่ของเส้นแบ่งนี้ของกัมพูชา ในหนังสือราชการ และข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็นสิทธิสัญญานั้น เป็นสิ่งที่ไทยควรทำหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ตนไม่เห็นด้วยกับการเจรจา และการเจรจายังต้องเจรจากันต่อไป แต่จะต้องไม่ใช่เป็นไปในลักษณะที่ยอมรับการมีอยู่ของเส้นแบ่งของกัมพูชา เพราะเส้นแบ่งของไทยนั้นถูกต้อง แม้จะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็ใกล้เคียงความถูกต้อง จึงทำให้ฝ่ายที่เห็นต่าง ไม่ค่อยเห็นด้วยกับ MOU44
นายคำนูณ ยังกังวลว่า การอ้างสิทธิของกัมพูชาดังกล่าว อาจจะซ้ำรอยกับ MOU43 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทประสาทเขาพระวิหาร จนศาลโลกตัดสินให้ตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา จากการบิดเบือนข้อเท็จจริง ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย จึงเห็นว่า เมื่อเส้นแบ่งของกัมพูชา ไม่ใช่เส้นทางอ้างสิทธิปกติ แต่เป็นการเต้าเรื่อง และอ้างสิทธิ ก่อให้เกิดความแตกต่างมหาศาล จึงทำให้ไม่สามารถยอมรับได้
นายคำนูณ ยังได้เสนอให้ใช้โมเดล JDA: Joint Development Area หรือ พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย มาเป็นโมเดล ให้เกิดประโยชน์ 2 ประเทศ และ MOU44 ก็มีอายุ 24 ปีแล้ว นวัตกรรมที่กระทรวงการต่างประเทศ คิดในการเจรจาพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก็ยังไม่สำเร็จ และปัจจุบันสถานการณ์ก็พัฒนาไปไกลมากและมั่นใจว่า การเจรจา ก็ยากที่จะสำเร็จ จึงเห็นว่า ควรยกเลิก MOU44 และไปใช้กระบวนการอื่นที่ถูกต้องต้องตามที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด
ขณะที่ นายอังกูร กุลวานิช รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ได้สรุป “ไขปมOCA” โดยย้ำว่า OCA ดังกล่าว ไม่มีพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นการอ้างสิทธิในไหล่ทวีป และการอ้างสิทธินี้ เกิดขึ้นในกัมพูชาปี 2515 และไทยได้ประกาศในปี 2516 เพื่อไม่ยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชา และย้ำว่า ไทยไม่ได้ยอมรับการอ้างสิทธิของกัมพูชา ซึ่งการประกาศเขตไหล่ทวีนั้น ก็ผูกพันเฉพาะรัฐผู้ประกาศ แต่ไม่ได้ผูกพันไทย และไทยไม่ได้ยอมรับ เพราะสิ่งที่กัมพูชาประกาศนั้น ไทยมองว่า ไม่ถูกต้อง และไทยได้ประกาศไหล่ทวีปของไทย พร้อมดำเนินการพูดคุยกันโดยสันติวิธีผ่านการเจรจาหารือ และทำความตกลง เพื่อให้ได้ผลอันเที่ยงธรรม
รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ย้ำว่า MOU44 ไม่ได้เป็นการยอมรับการอ้างสิทธิ์ของกัมพูชา แต่เป็นเพียงความตกลงให้ไปเจรจา พูดคุย หารือกัน และผังท้ายMOU44 ไม่ใช่แผนที่ แต่เป็นแผนผัง เพื่อบรรยายรายละเอียดการกล่าวอ้างสิทธิของไทย และกัมพูชาให้รับทราบ และเป็นตัวกำหนดรายละเอียดว่า แต่ละฝ่ายอ้างสิทธิอย่างไร พร้อมย้ำว่า การเจรจานั้น จะต้องเจรจาเรื่องเขต และการพัฒนาร่วมไปพร้อมกันไม่แยกออกจากกัน และการพัฒนาร่วมนั้น ก็ยังไม่ได้มีการตกลงใด ๆ กัน
รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยังย้ำอีกว่า MOU44 ไม่ได้ขัดต่อพระบรมราชโองการประกาศไหล่ทวีป เพราะตามพระบรมราชโองการฯ ระบุให้มีการไปเจรจาตกลงกัน และเป็นพันธกรณีที่ทำให้ไทย และกัมพูชา ใช้วิธีการสันติวิธี โดยการเจรจา ซึ่งเท่ากับไทยไม่ยอมรับเส้นอ้างสิทธิไหล่ทวีปของกัมพูชา เพราะไทยเห็นว่า การอ้างสิทธิของกัมพูชาทับเกาะกูด เป็นเส้นที่ไม่ถูกต้อง จึงต้องคุยให้ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วยเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่าย และหากไม่มีMOU44 กัมพูชาอาจจะไม่เจรจาก็ได้ และแม้จะยกเลิก MOU44 ก็ไม่ได้ทำให้การอ้างสิทธิของกัมพูชาหายไป จึงควรเปิดโอกาสให้มีการเจรจา และหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็สามารถหาวิธีการดำเนินการอื่นก็ได้
ส่วนที่การเจรจาไม่มีความคืบหน้นั้น รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เห็นว่า บรรยากาศของทั้ง 2 ประเทศ และการเจรจามีบรรยากาศขึ้นลง ทั้งเอื้อ และไม่เอื้อ จากปัจจัยต่าง ๆ แต่ระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่เทคนิค ก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ย้ำว่า ประเทศไทย ไม่เสียเกาะกูดแน่นอน ไม่ว่ากัมพูชา จะอ้างสิทธิอย่างไรก็ตาม เพราะประเทศไทย มีอธิปไตยเหนือเกาะกูด แต่การอ้างสิทธิของกัมพูชานั้น ไม่ถูกต้อง จึงทำให้ไทยต้องเจรจาพูดคุยกับ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง
รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ยังกล่าวถึงผลการเจรจาในอนาคตว่า หากมีการดำเนินการใดภายในใต้ MOU44 แล้ว จะต้องมีการบันทึกความตกงล หรือความเข้าใจ ต้องเข้าที่ประชุมรัฐสภา ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด พร้อมย้ำว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะยึดกรอบการเจรที่ประชาชนต้องรับได้ รัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบ และอยู่บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ดำเนินการตามพลการ หรือตามอำเภอใจ พร้อมยืนยันด้วยว่า MOU44 ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ 2540 และไม่ได้เป็น MOU เถื่อน เพราะรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้บัญญัติให้ต้องมีการนำบันทึกความเข้าใจให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบก่อน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ปัจจุบัน เพิ่งกำหนดให้มีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาก่อน
ส่วนความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการ JTC นั้น รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการ JTC นี้ ก็เป็นไปตามกลไกที่กำหนดไว้ใน MOU44 โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะเสนอขอความเห็นชอบการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีก่อนการเจรจา พร้อมรายงานความคืบหน้าต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบเป็นระยะ พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีการดำเนินการตื้นลึกหนาบางหรือตอบสนองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่อย่างใด
นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการ JTC ว่า เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบ เปิดเผย ตรงไปตรงมา นำความเห็นที่เกิดขึ้นไปรวบรวมประมวล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการต่อไป และการดำเนินการเจรจากับกัมพูชาในเรื่องนี้ ต้องใช้ระยเวลา ไม่สามารถเสร็จสิ้น 1-2 ปีได้ เพราะอย่างการเจรจากับประเทศมาเลเซียในลักษณะดังกล่าว ต้อใช้เวลานับ 10 ปี ทั้งที่พื้นที่เล็กว่ากัมพูชาด้วย
นายรัศม์ ยังยืนยันว่า หากการดำเนินการสิ่งใด ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ รัฐบาลจะต้องดำเนินการ แม้จะมีแรงเสียดทาน เพราะถือเป็นสิ่งที่ถูต้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ ทั้งเขตแดน และทรัพยากร แม้ว่า ผลลัพธ์ จะเกิดในรัฐบาลอื่น แต่เมื่อเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และต้องรักษาผลประโยชน์ประเทศ และประรชาชน รัฐบาลก็ต้องเดินหน้าทำหน้าที่ พร้อมย้ำว่า การดำเนินการของรัฐบาลนี้ ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลก่อนหน้า และ MOU44 ก็ดำเนินการใช้เรื่อยมาตั้งแต่ 2544 โดยไม่เคยมีการประกาศยกเลิกใด ๆ ดังนั้น ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทุกรัฐบาล ดำเนินการเช่นเดิม และพร้อมเปิดเวทีเพื่อรวบรวมความเห็นของสังคม เพื่อนำไปดำเนินการอย่างดีที่สุด
นายรัศม์ ทิ้งท้ายด้วยว่า สุดท้าย ไม่ว่าจะมี MOU44 หรือไม่ สุดท้ายแล้ว ก็ยังคงจะต้องมีการเจรจา และแม้จะมีการยกเลิกไป แต่เส้นอ้างสิทธิของกัมพูชา ก็ยังคงมีอยู่ และยังคงต้องเจรจาเช่นเดิม ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปสุดท้ายแล้ว ผู้ที่เป็นพระเอกในเรื่องนี้ไม่ใช่กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพลังงาน แต่เป็น สส.และ สว.ที่เป็นกระบอกเสียงของพี่น้องประชาชน ที่ต้องตัดสินใจว่า จะให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ ต่อผลลัพธ์การเจรจาที่เกิดขึ้นในอนาคต
“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกระบอกเสียงของพี่น้องประชาชน ที่ต้องตัดสินใจโหวตรับหรือไม่รับเรื่องนี้ต่อไป” นายรัศม์ กล่าว
สำหรับเวทีเสวนาในวันเดียวกันนี้ (28 ม.ค.) ยังมีผู้แทนจากาสภาผู้แทนราษฎร, สมาชิกวุฒิสภา และผู้แทนหน่วยงาน องค์กรอื่น ๆ เข้าร่วมรับฟังด้วย
ด้าน นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศสภาผู้แทนราษฎร ระบุก่อนการเสวนาจะเริ่มต้นขึ้นว่า OCA เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลนี้ ที่ต้องการใช้ศักยภาพจากทรัพยากรในพื้นที่อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ แต่ประเด็นในสังคม ทั้งการอ้างสิทธิพื้นที่ และการเสียพื้นที่ ยังเป็นประเด็นการสื่อสาร และต้องทำความเข้าใจมากกว่า กรรมาธิการฯ จึงตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาดำเนินการ เพราะเชื่อมั่นว่า พื้นที่นี้ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง
ขณะที่ นายชิบ จิตนิยม สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เห็นว่าเรื่องนี้เป็นมหากาพย์ที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี และ MOU44 ได้เกิดขึ้น ตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเพียงกรอบการเจรจากรณีไทย-กัมพูชา ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเท่านั้น และอย่างน้อย มีความเห็นว่าการคง MOU44 ไว้ และเจรจาต่อไป ก็จะช่วยประหยัดเวลา และไม่ต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ พร้อมขอให้ประชาชน มั่นใจได้ว่า ขณะนี้อย่าตื่นตัวเกินเหตุ เพราะไทยไม่ได้เสียพื้นที่ทับซ้อนไป และเป็นแค่การสำรวจปิโตรเลียมและพลังงาน