'นายกฯ'เร่งจ่ายเยียวยา 9,000 บาท ประชาชนน้ำท่วมทั่วประเทศ คาดจบต้น ม.ค. ปี 68
“นายกฯ”เร่งจ่ายเงินเยียวยา 9,000 บาท ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ ย้ำลดขั้นตอน คาดจบก่อนกลางเดือน ม.ค. 68 เปิดทางการยื่นเรื่องผ่านออนไลน์
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม(ศปช.) กล่าวว่า ในการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใต้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้ลดขั้นตอนและเร่งดำเนินการจ่ายเงินเยียวยา 9,000 บาท ทุกครัวเรือน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และสั่งการให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝน ระลอกสุดท้ายภาคใต้ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยข้อสั่งการของนายกฯทำให้ประชาชนได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และประชาชนผู้ประสบอุทกภัยได้ขอขอบคุณมายังรัฐบาลที่เร่งแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ภาคใต้
นายจิรายุ กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 รัฐบาล ที่ปรับจากการจ่ายตามขั้นบันไดมาเป็นทุกครัวเรือนละ 9,000 บาททั่วประเทศ แบ่งเป็น
กลุ่มแรก สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. - 2 พ.ย. อาทิ จ.ชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร และสิงห์บุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 57 จังหวัดแรก
กลุ่มสอง จ.ภาคใต้ที่เกิดสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา รวม 12 จ.ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี รวมทั้ง 2 กลุ่ม จำนวน 667,257 ครัวเรือน
ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการสำรวจ จัดทำบัญชี และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอน้ำลด ก่อนข้อมูลส่งไปยังธนาคารออมสินเพื่อทำการโอนเงินให้กับประชาชนคาดว่าสามารถทยอยจ่ายเงินช่วยเหลือฯ ตั้งเป้าให้จบทุกครัวเรือน ภายในวันที่ 16 ม.ค. 2568
นายจิรายุ กล่าวว่า นายกฯ ย้ำผู้ว่าราชการจังหวัด ชี้แจงแนวทางการดำเนินการให้ความช่วยเหลือกับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และให้อำเภอตั้งคณะทำงานตรวจสอบรายชื่อผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือ และดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) ผูกบัญชีธนาคารกับตัวเลขประจำตัวประชาชน ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบและรับรองข้อมูลเพื่อเสนอกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ให้ความเห็นชอบก่อนส่งข้อมูลมายังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวบรวมและนำส่งข้อมูลให้กับธนาคารออมสินโอนเงินให้กับผู้ประสบภัยต่อไป
นายจิรายุ กล่าวว่า เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปภ.ได้เปิดช่องทางการยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือไว้ 2 ช่องทาง ทั้งรูปแบบ Onsite และรูปแบบ Online สำหรับการยื่นแบบ Onsite ผู้ประสบอุทกภัยสามารถยื่นคำร้องฯ ด้วยตนเองที่อำเภอ เทศบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัยสามารถยื่นคำร้อง ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ส่วนการยื่นแบบ Online ดำเนินการยื่นคำร้องและติดตามสถานะผ่านเว็บไซต์ flood67.disaster.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยการยื่นผ่านช่องทาง Online ให้ประชาชนตรวจสอบเอกสารให้ครบถ้วนก่อน เนื่องจากจะไม่สามารถเข้ามาแก้ไขข้อมูลได้หลังจากยื่นคำร้องผ่านระบบ Online เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ประชาชน เตรียมเอกสารหลักฐานในการขอรับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมด้วยหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน (กรณีเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน) สัญญาเช่าบ้านหรือหนังสือรับรองการเช่าจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กรณีเป็นบ้านเช่า จากส่วนงานราชการเช่นที่ราชพัสดุ ที่การรถไฟ )
และหากเป็นกรณีอื่น อาทิ บ้านพักอาศัยประจำแต่ไม่มีทะเบียนบ้าน จะต้องให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ร่วมกับผู้นำชุมชน ตรวจสอบข้อเท็จจริงและลงนามร่วมกันอย่างน้อย 2 ใน 3 นอกจากนี้ ไม่รวมถึงบ้านพักที่หน่วยราชการจัดให้
ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำประชาชนผู้ประสบภัยตรวจสอบข้อมูลบัญชีหากยังไม่ได้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) แบบผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน มห้ไปติดต่อธนาคารดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้ทุกธนาคารเพื่อให้สามารถรับเงินช่วยเหลือได้โดยเร็ว